กูรูแนะเพิ่มหลักสูตร 'ออนไลน์' ช่องทางเข้าถึงความรู้ทั่วประเทศ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2018 เรื่อง Powering Thailand Competitiveness through Digital Transformation โดยหนึ่งใน หัวข้อของการสัมมนามีการพูดถึง "New Era of Education : When everyone can learn anything"
เริ่มจาก "ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ" ที่ปรึกษา อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า จุฬาฯได้เปิดคอร์สออนไลน์หรือ Chula MOOC ซึ่งมีผู้สมัครเรียน 50,000 คน และเรียนจบคอร์สแล้วกว่า 10,000 คน โดยวิชาที่เสนอในคอร์สออนไลน์เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีความหลากหลาย เช่น ทำอย่างไรให้สินค้า Go Inter, หลักการพื้นฐานทางกฎหมายแพ่ง, ภาษารัสเซีย, Introduction to Data Analytics and Big Data, Infographics What & How
"ไม่เพียงแต่การเปิดคอร์สให้กับ ผู้สนใจ จุฬาฯยังตระหนักถึงความสำคัญของการปรับทักษะ (reskilling) ของบุคลากรในภาคเอกชนที่ต้องการ ความช่วยเหลือจากสถาบันการศึกษา จึงเปิดการอบรมพนักงานโดยมี หลายบริษัทให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนี้"
ขณะที่ "เรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์"ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ภาคการ ศึกษาของรัฐตระหนักถึงความต้องการของภาคเอกชนที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมใหม่ (new S-curve) โดยสภาการศึกษาได้เปิดรับความคิดในการปรับเปลี่ยนหลักสูตร แต่การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา เพราะติดเรื่องกฎระเบียบ อีกทั้ง มีอุปสรรคที่ครูบางกลุ่มไม่ยอมปรับเปลี่ยนหรือรับสิ่งใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครูที่อายุเกิน 50 ปี
"ถึงแม้ในยุค 4.0 การศึกษาออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่การสอน ให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดียังต้องใช้ปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว ซึ่งครูมีบทบาทสำคัญอย่างมาก อย่าง ที่ภาคเอกชนบอกว่าเขาต้องการ พนักงานซื่อสัตย์ มีวินัย ความอดทน คุณสมบัติเหล่านี้การศึกษาออนไลน์คงให้ไม่ได้"
ด้านผู้ผลิตและจำหน่ายสื่อการเรียนรู้ อย่างบริษัท แม็คเอ็ดดูเคชั่น จำกัด "อาสาฬห์ พานิชกิจ" รองกรรมการผู้จัดการ มีมุมมองว่า แนวโน้มของเทคโนโลยีอันประกอบด้วยความเป็นจริงเสมือน (virtual reality, VR) ความเป็นจริงเสริม (augmented reality, AR) และความจริงผสม (mixed reality, MR) จะเข้ามามีบทบาทในการศึกษามากขึ้น ทำให้นักเรียนไม่จำเป็นต้องเดินทางเพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะเสริมการเรียนรู้ ของนักเรียนให้เหมือนอยู่สถานที่จริง
"แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นกับนักเรียนชนบท พวกเขาไม่สามารถ เข้าถึงความรู้และเทคโนโลยี เพราะยังขาด อินเทอร์เน็ต ถึงแม้เน็ตประชารัฐได้ ติดตั้ง WiFi ให้กว่า 27,000 หมู่บ้านแล้ว ทั้งยังมีแผนที่จะเพิ่มให้ทุกหมู่บ้าน หรือ 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศให้มี WiFi ภายในสิ้นปีนี้ แต่ผลสำเร็จของโครงการยังไม่เป็นที่ประจักษ์"
"เพราะยังต้องพัฒนาขอบเขตของ WiFi ให้คนทั้งหมู่บ้านได้ใช้ มิใช่ใช้ได้เพียงที่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านหรือวัด รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องการนำไปใช้ประโยชน์ เพราะพบว่า ชาวบ้านและเด็กใช้ WiFi เพื่อเล่นเกมมากที่สุด ดังนั้น จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการศึกษาต้องมาก่อนเทคโนโลยี เพราะหากไม่มีการศึกษาก็ไม่สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้"
ทั้งนั้น "ดร.สุพจน์" กล่าวปิดท้ายว่า ปัญหาเรื่องการศึกษาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ถ้ารัฐบาลจัดหลักสูตรทุกวิชาให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และเป็นหลักสูตรออนไลน์ แล้วให้ทุกโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเข้าใช้ได้ ซึ่ง ถ้าทำได้จะสามารถแก้ปัญหาเรื่อง ความไม่พร้อมของสถานที่ ครู รวมถึงตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาไทยให้ ดีขึ้น
ประชาชาติธุรกิจ | 6 ส.ค. 2561 | หน้า 30
Comments