ความท้าทายองค์กรธุรกิจ 2019
เมื่อโลกยุคใหม่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งในเชิงสร้างสรรค์จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ และ ประเด็นน่าเป็นกังวลด้านความปลอดภัย
ธุรกิจถูกเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและล้ำสมัย AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะเป็นสิ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผล ให้สภาวะแวดล้อมการทำงานเปลี่ยนไป ทักษะองค์กรต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนไปตามไปด้วย
ขณะเดียวกันข้อมูลกลายเป็นหัวใจสำคัญต่อธุรกิจ องค์กรจะมีเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้ดีแค่ไหน เป็นความท้าทายและโอกาสที่ภาครัฐและเอกชนที่จะต้องปรับตัว เพื่อก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างทันท่วงที
จากเวทีสัมมนาประจำปี TMA Thailand Management Day 2018 ภายใต้คอนเซปต์ Smart Connectivity: The Opportunities and Challenges เมื่อ 29 พ.ย. 2561 โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ มีหลายผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่ร่วมกันถ่ายทอดมุมมองโอกาสทางนวัตกรรม บทบาทของการนำ AI และ Machine Learning เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางธุรกิจ
ดร.ปีเตอร์ เจ. เบนท์ลีย์ ประธานฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท เบรนทรี จำกัด และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI Machine Learning และ Deep Learning เปิดเผยว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง จะเป็นโอกาสครั้งใหม่สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะการสร้างงานและอาชีพรูปแบบใหม่ ที่ใช้ AI ในการหารายได้
"ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน อาชีพ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลไม่เคยมีมาก่อนแต่ตอนนี้เป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงมาก กรณีของ แชตบอท ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ใช้ AI ในการสร้างรายได้ ในอนาคตจะเห็นคนที่หารายได้ผ่านอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชั่น มากขึ้น" ดร.ปีเตอร์ กล่าว
ขณะเดียวกัน AI ก็จะมีส่วนช่วยภาคธุรกิจในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนใหญ่ทุกธุรกิจจะมีข้อมูลที่จัดเก็บ ซึ่งสามารถนำ AI มาช่วยยกระดับบริการของ ตัวเอง สร้างมูลค่าการบริการที่เพิ่มขึ้น หรือนำมาช่วยคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจ ความต้องการของลูกค้า หากเป็นองค์กรมีข้อมูลที่มีคุณค่า ก็อาจจะสามารถสร้างหน่วยธุรกิจใหม่จาก AI ได้ด้วย
สำหรับเทรนด์ของธุรกิจ AI จะถูกนำมาใช้กับการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์พฤติกรรมมนุษย์ การใช้งานด้านสาธารณสุข อย่างการขยายตัวของเชลล์มะเร็ง เป็นต้น
ดร. ปีเตอร์ กล่าวถึงโอกาสของการใช้ AI ในประเทศไทยว่า เอกชนมีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะนอกจาก จะสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรแล้ว การลงทุนยังน้อยมาก มีเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์และคนที่ช่วยจัดเก็บบริหารข้อมูลเท่านั้น
นอกจากนี้ ภาครัฐ ต้องช่วยสนับสนุน ให้ธุรกิจ AI เกิดขึ้นด้วย กรณีในประเทศอังกฤษ รัฐบาลทุ่มเงินจำนวนมหาศาล เพื่อผลักดันให้อังกฤษเป็นศูนย์กลางของยุโรป รวมถึงเรื่องของการผลักดันกฎหมายต่างๆ ในการสนับสนุนให้เอกชน หันมาวิจัยพัฒนา มากขึ้น
ในยุโรปบริษัททางด้าน AI เกิดขึ้นมาหลายพันบริษัท หรืออย่างในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ให้ความสำคัญกับ AI ค่อนข้างมาก
ขณะที่ มาร์ติน วีซอฟสกี้ ประธานกรรมการบริหาร ด้านการออกแบบและ นักอนาคตศาสตร์ ศูนย์นวัตกรรมของ SAP เปิดเผยว่า องค์กรที่จะประสบความสำเร็จ ในยุคต่อไปจะต้องปรับทัศนคติในการ ทำงานใหม่ จากเดิมที่ชูกำไรเป็นตัวตั้ง จะต้อง หันมามองที่เป้าหมายเป็นตัวตั้ง เปลี่ยนการทำงานเป็นลักษณะเครือข่าย ไม่ใช่ลำดับชั้น และ เน้นการร่วมมือมากกว่าการควบคุม มีการทดลองทดสอบบริการรูปแบบใหม่ให้มากขึ้น รวมถึงมีการเปิดเผยข้อมูลให้มีความโปร่งใส
การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะเป็นทางรอดสำหรับการทำธุรกิจในยุคต่อไป บริษัทที่ไม่ทำการค้นหา หรือ ทดสอบนวัตกรรม จะอยู่ไม่ได้
ขณะเดียวกันการทำงานของคนในองค์กร อะไรที่เป็นเรื่องของงานประจำ ควรปล่อยมือให้คอมพิวเตอร์ เป็นคนดำเนินการ ส่วนบุคลากรในองค์กรจะต้องหันไปคิด ในงานที่เป็นวิสัยทัศน์ในอนาคต
นอกจากสองผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ร่วมกันถ่ายทอดมุมมองแล้ว การ Live Hack แบบสดๆ จากแฮกเกอร์ชื่อดัง ระดับโลกที่มีนามแฝงว่า Freaky Clown (FC) Co-Founder & Head of Ethical Hacking, Cygenta Ltd., United Kingdom แฮกเกอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเจาะระบบ เพื่อหาจุดอ่อนและวางระบบป้องกัน เขาเคยถูกว่าจ้างจากองค์กรต่างๆ รวมถึงธนาคารทั่วยุโรปให้เข้าไปขโมยข้อมูลของบริษัทออกมา เป็นการทดสอบระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ทั้งแบบออฟไลน์ออนไลน์ในเวลาไม่กี่นาทีจากการไลฟ์สดครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า โลกนี้อยู่ยาก ด้วยการแฮก ง่ายๆ ใน 5 นาที
เฟรกกี้ คลาวน์ (Freaky Clown) Co-Founder & Head of Ethical Hacking บริษัท ไซเจนต้า จำกัด ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือมีความสามารถพิเศษก็แฮกข้อมูลได้ โดยทำตามขั้นตอนที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต ที่จะมีเมนูกำหนดให้แฮกเอง
ขณะที่ผู้ถูกแฮกก็ไม่รู้ตัวว่าโดนแฮก เพียงแค่เปิดไฟล์แปลกๆ ที่มีผู้ส่งเข้ามา แม้ไม่ได้คลิกดำเนินการใดๆ ต่อ แต่ระบบของฝ่ายแฮกจะดำเนินการล้วงข้อมูล หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของผู้ถูกแฮกได้โดยง่าย
การล้วงข้อมูลทำได้ภายใน 5 นาทีทั้งๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ และภายใน 15 นาทีจะควบคุมทั้งองค์กรที่แฮกเข้าไปได้ ซึ่งเมื่อปี 2560 มีบางบริษัทสูญเสียมากกว่า 675 ล้านดอลลาร์จากการถูกแฮก
ขณะเดียวกัน ไม่ใช่เพียงความปลอดภัยไซเบอร์ที่ต้องป้องกัน ข้อแนะนำสำคัญ คือ ต้องมีระบบป้องกันทางกายภาพ ต้องสอนคนให้ระวังความมั่นคงปลอดภัย เช่น ประตูกระจกหมุน จะมีจังหวะหยุดอัตโนมัติ ทำให้คนร้ายอาศัยจังหวะนี้ ก้าวเข้าองค์กรได้ หรือซีซีทีวีที่ไม่ดีจะ ไม่ออกแบบมาเพื่อการป้องกัน เช่น ไม่ส่องไปทางที่มีต้นไม้
ระบบรักษาความปลอดภัยเกี่ยวข้องกับคน บางทีเราอาจเห็นเจ้าหน้าที่จ้องมองหาขโมยในจอคอมพิวเตอร์ แต่ตามความเป็นจริงเขาอาจเพียงกำลังมองหาคนส่งอาหารกลางวัน พนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ใช่หุ่นยนต์ ยังมีความสนใจบางเรื่อง ดังนั้น ต้องฝึกอบรมให้พวกเขาเพ่งมองบางอย่างที่ผิดปกติ
นอกจากนี้ ระบบล็อกต่างๆ เป็นเพียงการป้องกันคนซื่อตรงที่จะเข้ามาในหน่วยงาน แต่คนร้ายจะหาวิธีการต่างๆ เข้ามาได้ การติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยต้องรู้วิธีทำงาน ไม่ใช่ติดไว้ด้านหน้าพร้อมกุญแจเปิดรหัส แม้กระทั่งเก็บเอกสารสำคัญไว้ให้โฟลเดอร์ที่แสดงสัญลักษณ์เด่นชัด หรือติดป้ายประกาศถังขยะที่เอกสารสำคัญ ก็เป็นการชี้เป้าโจรกรรมเช่นกัน
"ถ้าทำระบบรักษาความปลอดภัยทางกายภาพไม่ดี แม้จะลงทุนระบบมากแค่ไหนก็ไม่ปลอดภัย"
ทั้งนี้ ความปลอดภัยเริ่มต้นด้วยตัวเรา มนุษย์เป็นจุดอ่อนสำคัญ แต่ถ้าให้ความรู้ก็จะกลายเป็นจุดแข็งได้ ยกตัวอย่าง ธนาคารในแองโกรา จะถูกขโมย 500 ล้านดอลลาร์ แต่พนักงานธนาคารเห็นความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นก็ยับยั้งเหตุไว้ได้
การหยุดยั้งการโจมตีทางไซเบอร์ของโลกนั้น มนุษย์เป็นผู้ป้องกันที่ดีที่สุด โดยต้อง ให้มนุษย์ตระหนักถึงความปลอดภัย ซึ่งตั้งแต่ ปี 2559-2560 เริ่มมีแนวคิดนำมนุษย์มาเสริม การปกป้ององค์กร จากที่ทำไซเบอร์ซิเคียวริตี้ มานานจะไม่ทำครั้งเดียวจบ จะต้องทำอย่างต่อเนื่องโดยจัดประเมิน ฝึกอบรม และสร้างวัฒนธรรมให้ปฏิบัติต่อเนื่อง วนซ้ำกันเป็นลูป พร้อมทั้งต้องให้กำลังใจ ให้ข้อมูล และความเข้าใจว่า ระบบรักษาความปลอดภัยเป็นความสำคัญ เพราะหากทุกคนไม่ร่วมมือจะไม่ได้ผล อีกทั้งยังต้องมองจากมุมของคนโจมตีด้วยว่า บริษัทของเราในสายตาของเขาจะมุ่งเป้าไปที่ไหน การทำระบบป้องกันต้องไม่ทำตามลำพัง ต้องปรึกษาคนข้างนอกด้วย และคาดหวังต่ำๆ ไว้ เริ่มป้องกันจากระดับพื้นฐาน แล้วค่อยๆ เพิ่มระดับให้สูงขึ้น
"AI จะถูกนำมาใช้กับ การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ คาดการณ์พฤติกรรมมนุษย์ การใช้งาน ด้านสาธารณสุข"
บรรยายใต้ภาพ
ปีเตอร์ เจ.เบนท์ลีย์
มาร์ติน วีซอฟสกี้
เฟรกกี้ คลาวน์ กรุงเทพธุรกิจ | 6 ธ.ค. 2561 | หน้า 23 |
Commentaires