![](https://static.wixstatic.com/media/b6f9ae_c2902c5784db470a990178011e18a3a5~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_588,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/b6f9ae_c2902c5784db470a990178011e18a3a5~mv2.jpg)
จุฬาฯควงคู่ไบโอเทค สุดยอดนักเทคโนโลยีไทย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชา- นุญาตให้สร้างพระบรมรูปขณะทรงเรือใบ ซูเปอร์มดหล่อด้วยบรอนซ์ สำหรับ มอบเป็นรางวัลแก่นักเทคโนโลยีดีเด่น และเหรียญรางวัลแก่นักเทคโนโลยี รุ่นใหม่ในวันเทคโนโลยีแห่งชาติ 19 ต.ค. ของทุกปี
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผลรางวัลพระราชทานนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2560 เชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่าง เป็นรูปธรรม สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับประเทศได้
น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น กล่าวว่า เกณฑ์การพิจารณาและเฟ้นหาบุคคล ที่สมควรได้รับรางวัล มีทั้งมิติด้านการ พัฒนาทางเทคโนโลยี และมิติด้านบุคคล มีคณะกรรมการคัดเลือกที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ หลากหลายสาขาในมหาวิทยาลัยของรัฐและภาคเอกชน
ในปีนี้มีโครงการส่งเข้าประกวด 50 โครงการ แบ่งเป็น ประเภทนักเทคโนโลยีดีเด่น 34 โครงการ และประเภทนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 16 โครงการ ปรากฏว่า ศ.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น จากผลงานหุ่นยนต์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และนางสาววิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งชาติ ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ จากผลงานการค้นหา และจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี
หุ่นยนต์เพื่อสังคมสูงวัย
ศ.วิบูลย์ กล่าวว่า 30 ปีที่ผ่านมา หลังจากได้รับพระกระแสรับสั่งจาก รัชกาลที่ 9 ให้พยายามทำหุ่นยนต์ออกใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม ถือเป็นแรงบันดาลใจ ให้มุ่งมั่นพัฒนาหุ่นยนต์มาตลอด เริ่มจากการผลิตหุ่นยนต์ให้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก จนกระทั่ง 4 ปีที่ผ่านมาได้สนใจพัฒนาหุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ร่วมกับภาควิชา เวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ออกแบบให้มีลักษณะเป็นแขนกล แบบสวมใส่ที่ครอบคลุมตั้งแต่หัวไหล่จนถึงข้อมือ
ทีมงานออกแบบหุ่นยนต์โดยคำนึงถึงความปลอดภัย สามารถใช้งานกับมนุษย์โดยตรงผ่านโปรแกรมควบคุมที่มีความ ซับซ้อนเป็นพิเศษ เพื่อที่จะสั่งงานได้ทั้งระดับ ความแรงและตำแหน่งการทำงาน โดยทั้งหมดถูกออกแบบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ชั้นสูงทำให้นักกายภาพหรือผู้ควบคุมเครื่องสามารถกำหนดลักษณะการเคลื่อนที่ ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
ขณะนี้ได้ผ่านขึ้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยในการใช้กับผู้ป่วย และอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพการใช้ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโครงการ สว่างคนิวาส ก่อนที่นำไปให้โรงพยาบาลพระมงกุฎและโรงพยาบาลกลาง ในอนาคต
หุ่นยนต์ฟื้นฟูนี้เสมือนเป็นผู้ช่วย นักกายภาพที่มีจำนวนจำกัด และยังลด ค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าหุ่นยนต์ 5 ล้านบาทให้ลงมาอยู่ที่ 5-7 แสนบาท เปิดโอกาสให้สถานพยาบาลทั่วประเทศเข้าถึงเครื่องมือกายภาพราคาถูก ส่วนความท้าทายต่อจากนี้ไปคือ การทำหุ่นยนต์สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้ผู้ช่วยยกตัวขึ้นลงจากเตียง หวังที่จะช่วยแก้ปัญหาและช่วยการดูแลผู้ป่วย ติดเตียง ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อประเทศไทยก้าวสูงสังคมผู้สูงอายุ
จีโนมเพื่อเกษตรกรไทย
ด้านนางสาววิรัลดา หัวหน้าห้องปฏิบัติการ วิจัยจีโนม กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ได้รับจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มต้นจากการเป็นนักเรียนทุนระดับปริญญาตรี-เอกที่สหรัฐอเมริกา โดยเลือกเรียนด้านไบโอเทคโนโลยีและมีความคิดที่จะนำความรู้ มาใช้ปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา เมล็ดพันธุ์และพืชผักต่างๆ ให้มีลักษณะที่ดี สามารถให้ผลผลิตได้ตามความต้องการ ของตลาดและผู้บริโภค สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้เกษตรกรได้ดีกว่าเกษตรกรรมดั้งเดิม ที่สำคัญสามารถแข่งขันได้ใน ตลาดโลก
สำหรับผลงานวิจัยเป็นการใช้เครื่องหมายโมเลกุลเข้ามาช่วยลดระยะเวลา แรงงานและทรัพยกรในการปรับปรุงพันธุ์พืช ด้วยการพัฒนากระบวนการค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลสนิป เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์และการตรวจเอกลักษณ์พันธุ์พืช
พร้อมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยค้นหาดีเอ็นเอได้จำนวนมากใน ระยะเวลาที่รวดเร็ว ที่จะนำไปสู่การพัฒนาชุดตรวจความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์แตงโม แตงกวาและพริก เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงพันธุ์ สำหรับบริษัทปรับปรุงพันธุ์หรือเกษตรกร หรือการพัฒนาพันธุ์ปาล์มต้นเตี้ยที่ เก็บเกี่ยวง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตสูงออกมาเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรภาคใต้ เป็นต้น ในอนาคตมีแผนที่จะใช้จีโนมปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนให้มีคุณลักษณะตามต้องการ เช่น กลิ่นลดลง เนื้อแน่น ขนาดใหญ่ขึ้น
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560
Comments