ดับเบิลยูอีเอฟผนึกเอกชน สร้างศก.ดิจิทัลอาเซียน
อาเซียน ก้าวขึ้นมามีบทบาทเป็นผู้เล่นหลักในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ด้วยเศรษฐกิจประเทศสมาชิกอาเซียนที่รวมกันแล้วมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.76 ล้านล้านดอลลาร์ และความสามารถในการปรับตัวใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม ทำให้อาเซียนเติบโตทันกระแสเศรษฐกิจโลก
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) ร่วมกับเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (ดับเบิลยูอีเอฟ) จัดเวทีผู้นำทางธุรกิจเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารดับเบิลยูอีเอฟ กล่าวในหัวข้อ "กุญแจสำคัญที่นำไปสู่เทรนด์ เศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก" ว่า อาเซียนและประเทศไทยมีโอกาสในการร่วมกำหนดทิศทางการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งจะเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิธีการทำงานจากปกติทั้งในภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ ประชาสังคม และประชาชนไปแบบพลิกฝ่ามือ
ชวาบ กล่าวว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีความสำคัญอย่างยิ่ง และส่งแรงสั่นสะเทือนมากกว่าการปฏิวัติใดๆที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยเทคโนโลยีหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) สกุลเงินดิจิทัล หรือบล็อกเชน จะถูกนำมาใช้ช่วยขับเคลื่อน การปฏิวัติครั้งนี้เป็นไปในทิศทางบวกในโลกแห่งอนาคต ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีจะช่วยเสริมพลังในกลุ่มผู้ใช้แรงงานมากกว่าเข้ามาแทนที่มนุษย์ โดยประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากการที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลและให้บริการสังคม
ตลาดดิจิทัลในอาเซียน มีส่วนสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ ให้กับบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดใหญ่ และลดต้นทุนให้ต่ำลง นั่นหมายความว่า ภาคเอกชนต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในแต่ละประเทศ ในด้านการกำหนดนโยบาย และชี้แนะแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
"วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศและรัฐบาลมีส่วนสำคัญต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่4 และผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ส่วนตัวมองว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการสร้างโอกาสที่ดีให้กับไทย โดยเฉพาะทำให้ประเทศไทยที่ถูกจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลกปี 2561 (Global Competi-tiveness Index 4.0) อยู่ในอันดับ 37 จาก 140 ประเทศ โดยอันดับขยับสูงขึ้น" ผู้บริหารดับเบิลยูอีเอฟ ระบุ
ชวาบ ยังมองว่า ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างปรับตัวและพยายามเข้าถึงตลาดดิจิทัล สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักคือระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน ดังนั้นการทำงานแบบบูรณาการและสร้างกฎระเบียบให้กับตลาดดิจิทัลที่มุ่งลดอุปสรรคทางการค้าไร้พรมแดน จะช่วยให้การขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างคล่องตัวขึ้น
นอกจากนี้ ชวาบ ยังชี้ว่า บิ๊กดาต้าเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเมืองอัจฉริยะและนำมาเชื่อมกับระบบอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง (ไอโอที) เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด สิ่งสำคัญต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนจะต้องแสดงบทบาทนำในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหา ขยะพาสติกในทะเล ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นประเด็นสำคัญของโลก ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันภาคเอกชนสามารถร่วมแก้ไขปัญหา ด้วยการมุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นการพัฒนา กรีนอีโคโนมี ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรีไซเคิลขยะ ตามแนวคิดที่ว่า ลดขยะ ให้เหลือศูนย์ (zero wast) เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสาธารณะได้ด้วย เช่นกัน
การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลต้องอาศัยปัจจัย 3 ด้าน ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี 2.ให้บริการด้านดิจิทัล ซึ่งเป็น สิ่งจำเป็นต่อผู้ใช้ใหม่ทางออนไลน์ ควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถของประชาชน เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัล 3.ฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพราะในที่สุดแล้วนั้น บริการดิจิทัลต้องพึ่งพาข้อมูล ที่ปลอดภัยและไหลเวียนอย่างเป็นอิสระ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลรองรับการเติบโตต่อไป ในโลกแห่งอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า การดำเนิน นโยบายทั้ง 3 ด้านอย่างแข็งขัน จะสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ และยังเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาเซียนให้มีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ให้มีมูลค่าอย่างน้อย 125,000 - 205,000 ล้าน ดอลลาร์ ภายในปี 2573
กรุงเทพธุรกิจ | 13 ก.ค. 2562 | หน้า 9
댓글