ความก้าวหน้าของวิทยาการหุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์ (Robotics and artificial intelligence) เป็นอีกเทรนด์สำคัญที่ PwC ชี้ให้เห็นถึงการเข้ามามีบทบาทสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต อย่างเช่น หุ่นยนต์และความสามารถของระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ล้ำสมัยจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ และช่วยให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลง ซีที เอเชีย โรโบติกส์ เป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจที่มองว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต และมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม แต่เส้นทางของการสร้างเทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะหุ่นยนต์สัญชาติไทยที่แค่คิดก็อาจมองไม่เห็นหนทางที่จะเดินต่อ "จากประสบการณ์ที่เจอมา หลายครั้งเวลาคิดอะไรใหม่ๆ ก็มักจะได้ยินพูดกันว่าญี่ปุ่นยังทำไม่ได้ จะสู้ญี่ปุ่นได้อย่างไร ผมได้ยินมาร้อยครั้ง ทำให้ต้องมุ่งมั่นอย่างมากที่จะหาทางทำให้เกิดขึ้น" เฉลิมพลปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด กล่าวในงาน TMA DAY 2016 ที่จัดขึ้นโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย "สิ่งที่ทำให้ผมคิดทำหุ่นยนต์ เริ่มจากอยากเห็นชาติมีศักดิ์ศรีแบบนี้บ้าง อยากเป็นแบบชาติอื่นที่สร้างนวัตกรรม รวมทั้งสงสัยมาตลอดว่าคนเก่งๆ มีเยอะ แชมเปี้ยนโลกก็เยอะ แต่ทำไมชาติเราไม่มีบริษัทหุ่นยนต์ก็มาคิดว่าถ้าจะทำเป็นธุรกิจได้อย่างไร" จากการเป็นนักการตลาดขาดทักษะด้านเทคโนโลยีเมื่อเทียบกับวิศวกรที่เชี่ยวชาญมากกว่า สำหรับ เฉลิมพล มองว่า บ่อยครั้งที่คนเก่งๆ ทำงานภายใต้คอมฟอร์ทโซนมากจนเกินไปอาจทำให้ขาดความท้าทายที่จะคิดและทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เมื่อข้อจำกัดผุดขึ้นมาให้เห็น การจะเดินหน้าต่อก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เฉลิมพล ย้อนให้ฟังว่า การจะได้มาซึ่งหุ่นยนต์ตัวแรกที่ชื่อ "ดินสอ" ต้องงัดกลยุทธ์หลากหลายรูปแบบออกมาใช้ หุ่นยนต์ดินสอ รุ่นแรก ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี 2552 ที่แม้เทคโนโลยีจะทำงานได้ตามที่ออกแบบเอาไว้ แต่การยอมรับที่นำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ในตอนนั้นเรียกว่า โอกาสมีอยู่น้อยมาก "สิ่งที่คิดในตอนนั้น คือ อุดมการณ์มีแต่ทำอย่างไรให้รอด เพราะยุคนี้ยังไม่ใช่หุ่นยนต์ แม้จะตีลังกาคิดก็ตาม ไม่มีทางที่หุ่นยนต์จะเกิดได้ในสามปีแรก โจทย์ในวันนั้นทำอย่างไรถึงจะรอด" การดำเนินการเพื่อผลักดันหุ่นยนต์รุ่นแรกให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์ เฉลิมพล บอกต้องใช้ถึง 3 แผนด้วยกัน แผนแรก มองว่าหุ่นยนต์ขายไม่ได้แน่ในตอนนั้น แม้จะเป็นในวันนี้ก็ยังขายไม่ง่าย เพราะเป็นยุคที่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เปรียบเหมือนกับมือถือในยุคแรกๆ ที่ยังจำกัดการใช้งานแค่บางกลุ่มคนเท่านั้น "ผมก็ออกแบบหุ่นยนต์ให้มีหน้าเป็นจอเพื่อที่จะได้ขายโฆษณาบนหน้ามันได้ เจ้าดินสอก็เลยมีหน้าจอตั้งแต่แรกๆ เพราะผมไม่รวยพอที่จะมีสายป่านรอจนถึงปีสองปีถึงจะมีรายได้" แผนสอง ถ้าหุ่นยนต์ขายไม่ได้ ควรจะพัฒนาเป็นการ์ตูน แล้วโปรโมทการ์ตูน เฉลิมพล บอกได้มีการลงทุนเขียนหนังสือการ์ตูนทั้งเล่ม เพราะคิดว่าหากหากินจากหุ่นยนต์ไม่ได้ ก็ขายในส่วนที่เป็นคาแรคเตอร์การ์ตูนก่อน แผนสาม ทำหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเมื่อมองไปที่ตลาดโดยรวมก็พบว่ายังไม่มีนวัตกรรมอะไรเกิดขึ้นมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ "เราเปิดด้วยแผนแรกก่อน ให้คนเช่าเพื่อออกงานอีเวนท์ต่างๆ เรียกว่า ยุคแรกของหุ่นยนต์ เป็นยุคของการสร้างกิมมิค สร้างสีสันให้กับงานอีเวนท์ รวมถึงการร่วมทำแคมเปญกับสินค้าและองค์กรต่างๆ จากนั้นหุ่นยนต์ดินสอก็เริ่มนำเข้าไปใช้งานในภาคธุรกิจบ้าง เช่น สหพัฒน์ และเอ็มเคสุกี้ จากนั้นก็เดินมาจนถึงวันที่ส่งออกไปสวีเดน ซึ่งก็ภูมิใจว่าการที่เราเป็นประเทศกำลังพัฒนาแต่สามารถผลิตและส่งหุ่นยนต์ไปประเทศที่เจริญแล้วมากถึงสิบสองตัวแล้ว" ในวันนี้ หุ่นยนต์ดินสอ อยู่ในกระบวนการพัฒนารุ่นใหม่ๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ "ตอนนี้มีดินสอรุ่นสี่ รุ่นห้า อยู่ในลิสต์ที่เตรียมดำเนินการพัฒนา ผมอยากจะเห็นหุ่นยนต์ที่ดมกลิ่นได้ สามารถจะแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาเปลี่ยนผ้า หรือ ทำได้ไปจนถึงส่งสัญญาณบอกลูกหลานได้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมเปลี่ยนผ้าให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงเริ่มทำวิจัยให้หุ่นยนต์ตรวจจับโรคจากกลิ่นลมหายใจ เป็นต้น" เฉลิมพล ชี้ว่า โลกเรากำลังเดินเข้าสู่ยุคอื่นแล้ว แต่เป็นการค่อยๆ เข้าทีละนิด เปรียบให้เห็นภาพนึกถึงการใช้มือถือเมื่อยี่สิบปีที่แล้วยังมีไม่มากนัก แต่พอเข้ามาเต็มสตรีมแล้ว เห็นได้ว่าไทยมีมือถือเกินกว่าจำนวนประชากรของประเทศแล้ว "เชื่อว่าโลกหุ่นยนต์จะมาเร็วมาก ในอีก 10-15 ปีข้างหน้าเราจะขาดหุ่นยนต์ไม่ได้ถ้าขาดอาจต้องลางาน เพราะไม่มีใครดูแลแม่ ดูแลลูก ธุรกิจร้านอาหารอาจต้องร้านปิดร้านเร็วขึ้นเมื่อพบว่าพนักงาน(หุ่นยนต์)เสิร์ฟเสีย ภาพอย่างนี้จะเข้ามาที่ละเรื่อง และมาอย่างรวดเร็ว ที่เป็นอย่างนั้นได้เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน ตั้งแต่ซีพียู เล็กและถูกลง สองคือ Internet of thing เป็นต้น ก้าวต่อไปสำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์ เฉลิมพล บอกมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือมากขึ้น เพราะโลกอนาคตต้องใช้นักวิจัยบวกกับนักการตลาด "สิ่งที่ขาด คือ ขาดโจทย์ ที่ผ่านมางานวิจัยอยู่บนหิ้งเพราะทำตามความสนใจของนักวิจัยแต่ละคน อีกทั้งนักธุรกิจที่เข้าไปหานักวิจัยส่วนใหญ่จะให้ทำงานในลักษณะของ Process Improvement กว่า ผมเน้นเน็ตเวิร์คกิ้ง เพื่อเอาโจทย์ไปให้แล้วทำออกมาเป็นโปรดักท์ คิดโจทย์ ซึ่งความท้าทายที่สุด คือ ทำให้คนเก่งๆ เชื่อว่า ทำแล้วจะสำเร็จ อย่าเพิ่งกลัว และคิดว่าทำไม่ได้" เฉลิมพล ย้ำว่า การอยู่ในโลกของเทคโนโลยี การตั้งโจทย์คือหัวใจ มองอนาคต แล้วตั้งโจทย์จากนั้นก็หาคนเก่งๆ มาแก้โจทย์นั้นให้ได้ "ผมเริ่มจากธุรกิจซอฟต์แวร์เกี่ยวกับคอลเซ็นเตอร์ เป็นวันนี้ธุรกิจเป็น Cash cow แต่สำหรับ หุ่นยนต์ มองเป็นธุรกิจ Rising star จากที่ได้ลงมือทำในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา" "การอยู่ในโลกของเทคโนโลยี การตั้งโจทย์คือหัวใจ ต้องมองอนาคต แล้วตั้งโจทย์ จากนั้นก็หาคนเก่งๆ มาแก้โจทย์นั้นให้ได้' คนเก่งๆ ทำงานภายใต้ Comfort zone มากจนเกินไปอาจทำให้ขาดความท้าทายที่จะคิดและทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2559
Comments