top of page

นวัตกรรมเปลี่ยนประเทศสู่การพัฒนา-อนาคตที่ยั่งยืน



นวัตกรรมเปลี่ยนประเทศสู่การพัฒนา-อนาคตที่ยั่งยืน


ปาริชาติ บุญเอก

qualitylife4444@gmail.com


ปัจจุบันหลากหลายองค์กรได้นำแนวคิด Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้เพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น แต่ในแง่ของการพัฒนาทั้งประเทศนั้น ไม่ได้ตีกรอบแค่อยู่ในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของคนทั้งประเทศและหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย นำไปสู่การพัฒนาที่กว้างมากขึ้นทั้งในด้านคุณภาพชีวิต สังคม และธุรกิจ ด้วยการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์โลก นำไปสู่การบรรลุ "เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน" หรือ Sustainable Development Gold (SDGs) ที่กำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ


ประเทศไทย นับเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลาง เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ แต่ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมกลับทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม แม้ว่าประเทศไทยจะมีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่กลับเจอปัญหาทางธรรมชาติ อาทิ มลพิษ น้ำท่วม ตัดไม้ทำลายป่า ภัยแล้ง หมอกควัน รวมไปถึงวิกฤติ ทางการประมงซึ่งมีการจับปลามากจน เกินไป


Jeffrey D. Sachs Director of the Center for Sustainable Development, Columbia University และ Director of the UN Sustainable Development Solutions Network ได้ให้ความเห็นว่า "การจะยกระดับรายได้ประชากรไทยให้อยู่ในระดับสูง ขั้นตอนสำคัญคือ ต้องพัฒนาความรู้ พัฒนาคน พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพในการใช้นวัตกรรม และนำไปสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่เหมือนการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วไป แต่คือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอีกด้วย"


ความท้าทายในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน และต่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องลดการปล่อยมลพิษให้น้อยลง ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายมากมายที่ครอบคลุมในเรื่องนี้ แต่ไม่ค่อยบังคับใช้ ทำให้เกิดปัญหา ต่อเนื่อง


นอกจากนี้ การนำพลังงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากประเทศไทยมีพลังงานที่สำคัญหลายรูปแบบ เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถนำพลังงานเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ รวมไปถึงการเกษตรที่ส่วนใหญ่ใช้ยาฆ่าแมลงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษ และไทยติดอันดับต้นๆ ของโลก


นวัตกรรมเปลี่ยนประเทศ


"เราต้องกลับมาคิดว่า นอกจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง และในปัจจุบันมีนวัตกรรมรถยนต์ระบบไฟฟ้า แต่ในขณะเดียวกันไทยมีการพัฒนาเรื่องระบบรองรับแล้วหรือยัง ไทยมีเครือข่าย 5G แล้วหรือยัง นอกจากนี้ในด้านการศึกษา มีการสอนในด้านวิศวกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วหรือยัง มีหลายสิ่งที่ต้องทำ


เพราะสิ่งเหล่านี้จำเป็นวัตกรรมไม่ควรเน้นวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ต้องมองในเรื่องของการแก้ปัญหา และพัฒนาให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการ


พัฒนาด้านการเกษตรใหม่ๆ ให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น


"การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องลงทุนโดยภาครัฐ และควรมีการเพิ่มงบประมาณในด้านนี้ ทุกวันนี้ประเทศไทยลงทุนน้อยไปทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ประกันสังคม ดังนั้น คนจนจึงไม่ได้มีระดับการศึกษาที่ดี ไม่มีสาธารณสุขที่ดี และไม่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การที่ภาครัฐลงทุนในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น นอกจากจะช่วยพัฒนาศักยภาพของประชากรให้ดีขึ้น เพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืนแล้ว ยังส่งผลให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้มากยิ่งขึ้น" Jeffrey D. Sachs กล่าวทิ้งท้าย


อาหารเปลี่ยนโลก


นอกจากด้านเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดที่หลายคนยังคาดไม่ถึงอย่าง "อาหาร" ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น และทำให้เกิดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน โดยในทุกๆ การผลิตจะมีของเหลือทิ้งจากการผลิตถึง 1 ใน 3 นั่นหมายความว่าเราไม่ได้ทิ้งแค่อาหารเท่านั้น แต่เราได้ทิ้งทรัพยากร แรงงานคนที่ผลิตสินค้า และต้นทุนการทำการตลาดไปด้วย


มาร์ค บัคลี่ย์ Chief Executive Officer and Co-Founder of Adaptive Nutrition Joint Achievements (ANJA), Germany ผู้ก่อตั้งบริษัท ANJA ALOHAS ECO-Center ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% ซึ่งได้นำเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาช่วยในเรื่องของกระบวนการผลิตและการบริหารธุรกิจ รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้คำปรึกษาด้านระบบนวัตกรรม การรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์ ออร์แกนิค และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ร่วมเปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบันว่า


"ทุกวันนี้เราควรมีการปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหารพร้อมกันทั่วโลก ควรดูที่การผลิตไม่ใช่แค่ราคาถูก แต่ต้องถูกต้อง ในตอนนี้ มีประชากรเป็นโรคอ้วนอยู่ในภูมิภาคเดียวกับประชากรที่เป็นโรคขาดสารอาหาร สาเหตุมาจากการผลิตอาหารที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบถ้วน และไม่ดีต่อสุขภาพ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากประเทศจีน ซึ่งนิยมบริโภคอาหารที่ราคาต่ำ โดยไม่คำนึงว่าอาหารนั้นมีวิตามินและสารอาหารเพียงพอหรือไม่ แต่สนใจเพียงแค่ราคาเท่านั้น แต่ความจริงแล้วราคาไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ควรมองที่ต้นกำเนิดของอาหาร"


สำหรับในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกิน แต่หลายคนอาจจะมองข้ามจุดเริ่มต้นของอาหาร ซึ่งเป็นระบบที่มีความซับซ้อน และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องนั่นก็คือ "อุตสาหกรรมเกษตร" ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน


ปัจจุบัน หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญในการทำการเกษตรโดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย อาทิ การเกษตรในแนวดิ่ง (Vertical Farm) ซึ่งเป็นการปลูกพืชใน โรงเรือน มีการควบคุมการให้น้ำ แสง และอาหาร ผ่านระบบอัจฉริยะ ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มากกว่าและ ปลอดภัย โดยประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นก็หันมาปลูกพืชในลักษณะนี้กันมากขึ้น รวมไปถึงการบริโภคเนื้อสัตว์เทียม และการปลูกพืชควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลาอีกด้วย


อีกหนึ่งนวัตกรรมที่พัฒนามาเพื่ออุตสาหกรรมอาหารนั้นก็คือ Safety Net ตาข่ายจับปลา ที่ผ่านการคิดค้นแสงสีเพื่อจับปลาให้ตรงกับชนิดที่ต้องการมากขึ้น ลดปัญหาการจับปลาแบบหว่านแห ซึ่งทำให้ได้สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่ไม่ต้องการติดมาด้วย กลายเป็นว่าชาวประมงต้องโยนสัตว์ เหล่านั้นทิ้งและเกิดปัญหาทางด้านสัตว์น้ำในที่สุด นวัตกรรมนี้จึงเข้ามา ช่วยแก้ปัญหาในด้านการประมง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย


ธรรมศักดิ์ จิตติมาพร รองประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า เราถูกเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และความรู้อย่างไร้ขีดจำกัดเพียงปลายนิ้ว ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ มากมายที่สามารถสร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลกของเรา ผมคิดว่าในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมามีองค์กรต่างๆ ร่วมกันพัฒนาและเห็นถึงความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และหากทุกหน่วยงานร่วมมือกัน คาดว่าจะสามารถนำพาประเทศไปสู่ความยั่งยืนได้สำเร็จในอนาคต"



กรุงเทพธุรกิจ | 3 ต.ค. 2561

Comments


TMA-Grid-EditCS4

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

276 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ. รามคำแหง แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310

Contact Us

Tel: +662-319-7677 / +662-718-5601

Click here to find us on map

  • Line_Rounded_Solid_icon-icons.com_61550
  • LinkedIn
  • Facebook
  • Instagram

Copyright ©2024 by Thailand Management Association.

bottom of page