top of page

บิ๊กตู่ปลื้มไทยขยับขึ้น5อันดับ


บิ๊กตู่ปลื้มไทยขยับขึ้น5อันดับ


ความสามารถแข่งขันศก. พุ่งขึ้นที่25-ดีสุดรอบ15ปี สิงคโปร์แซงมะกันรั้งที่1

'บิ๊กตู่'ปลื้มไทยขยับขึ้น 5 อันดับ ความสามารถในการแข่งขันจาก 30 เป็น 25 สำรวจจาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก


ความสามารถไทยขยับขึ้น5อันดับ

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (ไอเอ็มดี) สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 ซึ่งสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือทีเอ็มเอ ร่วมด้วยว่า ไอเอ็มดีทำการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก เมื่อช่วงต้นปี 2562 พบว่าประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 30 เป็น 25 ซึ่งเป็นอันดับที่สูงสุดในรอบ 15 ปี ส่วนการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับสูงสุด 5 อันดับแรกคือ สิงคโปร์เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 แทนที่สหรัฐ ซึ่งลดอันดับลงไปเป็นที่ 3 รองจากฮ่องกง ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามมาที่อันดับ 4 และ 5 ตามลำดับ


นายทศพรกล่าวว่า เมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับของไทย จากผลการจัดอันดับที่แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ, ประสิทธิภาพของภาครัฐ, ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไทยมีผลการจัดอันดับดีขึ้นใน 3 ด้าน ได้แก่ภาวะเศรษฐกิจ, ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจลดลง 2 อันดับ โดยในด้านเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอันดับดีขึ้น มาจากการลงทุนจากต่างประเทศที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งกฎหมายด้านธุรกิจที่มีการปรับปรุงดีขึ้นก็ช่วยให้ได้รับการจัดอันดับดีขึ้น


ตั้งเป้า5-10ปีขึ้นที่2ในอาเซียน

"ส่วนการเติบโตในด้านการลงทุนต่างประเทศ ไทยมีอันดับที่ดีขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะที่การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งนับว่าเป็นผลจากการที่รัฐบาลได้มีแนวทางที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการปรับกฎระเบียบให้ทันสมัย คล่องตัว และส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในการให้บริการให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างในทุกด้าน และกำลังผลักดันต่อไปให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องและในวงที่กว้างขวางมากขึ้น หากมีการพัฒนาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คาดว่าภายใน 5-10 ปี ไทยจะสามารถขึ้นมาเป็นที่ 2 ของอาเซียนได้" นายทศพรกล่าว


นายทศพรกล่าวว่า ส่วนในเรื่องที่ต้องมีการพัฒนาเพิ่ม คือ เรื่องของระบบการศึกษา จะเห็นได้ว่าในส่วนนี้มีการใช้งบประมาณอย่างมากในการพัฒนา รัฐบาลควรมุ่งเน้นในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ประเทศพัฒนา และยกอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นตามลำดับ รวมถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงานต่อควรเดินหน้าโครงการเดิม เพื่อความต่อเนื่องของเศรษฐกิจ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และระบบคมนาคมระหว่างประเทศ เป็นต้น


ด้านวิทยาศาสตร์ขยับด้วย4อันดับ

นายทศพรกล่าวว่า ปีที่ผ่านมาและตลอดช่วงปีนี้ สศช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ได้พยายามผลักดันและประสานให้เกิดการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ผลักดันและสร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่องให้หน่วยงานเจ้าภาพข้อมูลมีการจัดระบบข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับของสถาบัน ไอเอ็มดี ให้มีความถูกต้อง และทันสมัย


นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศ ไทย (ทีเอ็มเอ) กล่าวว่า นอกเหนือจากประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ผลการจัดอันดับของไทยดีขึ้น ยังมีประเด็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นรากฐานของการสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวที่มีอันดับสูงขึ้นถึง 4 อันดับจากปีที่แล้ว โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาคิดเป็น 0.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) จากสัดส่วนการลงทุนทั้งหมด 1% ของจีดีพี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว


'บิ๊กตู่'ชี้ฝีมือทุกฝ่ายร่วมใจ

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พอใจผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ประจำปี 2562 ซึ่งประเมินโดยไอเอ็มดี ที่ไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 เป็น 25 โดยนายกฯย้ำว่าความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ท้ายที่สุดคนไทยและประเทศไทยจะได้ประโยชน์โดยตรง


"นายกฯระบุว่า สิ่งสำคัญคือ การสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้ทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมมือกันยกระดับการทำงานของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศ โดยรัฐบาลเร่งส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ และพัฒนาคนให้พร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน" พล.ท.วีรชนกล่าว


พณ.ดึงเอกชนร่วมวอร์รูมเตือนภัย

ที่กระทรวงพาณิชย์ มีการประชุมระหว่างภาคเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐประมาณ 60 คน โดยมีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือถึงสถานการณ์และแนวโน้มของสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐกับจีน


นางสาวชุติมากล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการหารือว่า สถานการณ์เทรดวอร์ที่ส่งผลกระทบ ในวงกว้างต่อเศรษฐกิจการค้าโลก รวมถึงประเทศไทย ตอนนี้ทวีความเข้มข้น และมีแนวโน้มยืดเยื้อ ดูจากตัวเลขผลกระทบทั้งหมดต่อการส่งออกไทยตั้งแต่ปี 2561 ถึง 4 เดือนแรกปี 2562 ในกลุ่มสินค้าสหรัฐใช้มาตรการต่อจีน กระทบส่งออกไทยลดลง 630 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.19% และตัวเลขส่งออก 4 เดือนแรก ติดลบ 1.9%


"เห็นแล้วว่าสงครามการค้าอาจยืดเยื้อ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หาแนวทางรับมือ จึงได้เชิญภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ ซึ่งประเด็นหารือได้นำสถานการณ์ที่ส่งออกไทยได้รับผลกระทบ และผลดีต่อส่งออกไทย ทั้งหมดได้ข้อสรุปว่า พอมีแนวทางรับมือและขับเคลื่อน โดยเสนอตั้งวอร์รูม ในรูปแบบการตั้งคณะทำงาน ที่ไม่ใช่แบบราชการ แต่เป็นคณะทำงานที่มีความรวดเร็ว โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญภาครัฐและเอกชนมาร่วมทำงาน เพื่อติดตามสถานการณ์ต่างๆ ระดมความคิดหามาตรการรับมือ นำไปสู่การออกมาตรการที่ชัดเจนและรวดเร็ว" นางสาวชุติมากล่าว


รับมือเทรดวอร์ชงนายกฯโอเค

นางสาวชุติมากล่าวว่า นอกจากนี้ยังหารือแนวทางรับมือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้น เพิ่มความถี่ในการรุกตลาดกลุ่มที่มีโอกาสและกลุ่มสินค้าที่ดีขึ้น ออกมาตรการป้องกัน ทั้งมาตรการปกป้องจากการนำเข้า (เซฟการ์ด) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (ซีวีดี) เพื่อไม่ให้เกิดการสวมสิทธิ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนแนวทางรับมือระยะกลางและยาว คือการเร่งเจรจาเอฟทีเอ การทบทวนปรับโครงสร้างทั้งสินค้า การลงทุนและภาษี ให้ทันสมัยและลดการเสียเปรียบกับต่างประเทศ โดยทั้งหมดนี้จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในวันที่ 11 มิถุนายน ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน


นางสาวชุติมากล่าวว่า จากข้อมูลผลกระทบ จากสงครามการค้า แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือ 1.กลุ่มที่ยังขยายตัวได้ดี (Excllence) ได้แก่ เคมีภัณฑ์ รองเท้าและเครื่องแต่งกาย อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่ม และยาสูบ 2.กลุ่มที่ขยายตัวได้ในปี 2561 แต่หดตัว 4 เดือนแรกปี 2562 (Watch List) ได้แก่ สิ่งทอ-เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นและอุปกรณ์กีฬา เยื่อไม้และกระดาษ เหล็ก แร่โลหะ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักร พลาสติกและยาง ยานพาหนะและส่วนระกอบ สัวต์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และ 3.กลุ่มที่หดตัวในปี 2561 แต่ขยายตัวใน 4 เดือนแรกปี 2562 (Rising Star) ได้แก่ อุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ (เลนส์) การแพทย์ นาฬิกา


นางสาวชุติมากล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกที่ลดลง 630 ล้านเหรียญสหรัฐ แยกเป็นผลกระทบทางตรง ไทยเสียมูลค่าส่งออก 32.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลบ 6.7% ผลกระทบทางอ้อมจากการที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน ไทยเสียมูลค่าส่งออก 1,337 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 8% และผลทางอ้อมจากการมีโอกาสส่งออกเพิ่มในตลาดสหรัฐ มีมูลค่า 738.8 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 6.3%


รอ'สมคิด'เคาะปรับเป้าส่งออก

"ในส่วนของการทบทวนตัวเลขคาดการณ์ส่งออกปี 2562 ยังไม่ได้ข้อสรุป อยู่ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศหารือภาคเอกชนและทูตพาณิชย์ ซึ่งจะชัดเจนต้องหลังหารือนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมารับฟังและมอบนโยบายที่กระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้" นางสาวชุติมากล่าว


นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ว่า การทบทวนตัวเลขการส่งออกต้องพิจารณาสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ด้วย กรณีอังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ที่ขณะนี้อังกฤษมีแนวโน้มจะทบทวนใหม่จะทำให้การเจรจาการค้าไทยกับอียูเดินหน้า รวมถึงท่าทีผ่อนคลายของสหรัฐกับจีนต่อการใช้มาตรการตอบโต้การปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน อาจชะลอผลกระทบต่อการส่งออกและการย้ายฐานการผลิตของประเทศต่างๆ รวมถึงต้องพิจารณาประกอบกับปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าบาท ราคาน้ำมัน การย้ายฐานผลิตสินค้าหลังเกิด เทรดวอร์ เป็นต้น


"จากหลายท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ต้องฟังความเห็นจากภาคเอกชน และกลุ่มผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมต่างๆ ใหม่ รวมถึงแผนงานของทูตพาณิชย์ที่ขอให้ทบทวนสถานการณ์ต่างๆ ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จากเดิมคาดว่าจะหนักหนาอาจดีขึ้น ทั้งนี้ ยังมั่นใจปีนี้ส่งออกไทยไม่ติดลบ แต่อาจบวกไม่เท่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 8% และยังเดินหน้าที่จะผลักดันการส่งออกให้ได้มูลค่าต่อเดือน 2.1-2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในช่วงที่เหลือปีนี้" นางสาวบรรจงจิตต์กล่าว และว่า ตัวเลขเป้าหมายการส่งออกใหม่จะลดลงจาก 8% เท่าไรนั้น ต้องรอผลการหารือระหว่างรัฐกับเอกชน และการรับมอบนโยบายวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ แต่ยอมรับว่าค่อนข้างกังวลต่อการส่งออกไปแอฟริกา เพราะมีปัญหาทางการเมือง กระทบต่อกำลังซื้อการนำเข้า และราคาน้ำมันโลกไม่ได้ขยับขึ้นตามคาดการณ์ จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันของไทย


จับคู่ทูตพณ.-พณ.จว.ดันส่งออก

น.ส.บรรจงจิตต์ยังกล่าวอีกว่าวันเดียวกันมีการประชุมร่วมระหว่างหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) 53 แห่งทั่วโลกกับ 18 กลุ่มพาณิชย์จังหวัด เพื่อเชื่อมโยง Local to Global ตามนโยบายรัฐบาลผลักดันสินค้าและบริการท้องถิ่นออกสู่ตลาดโลก ว่าครั้งนี้ได้มีการคัดเลือสินค้าชุมชนที่ได้รับการพัฒนาจนสามารถเพิ่มมูลค่าและสามารถทำธุรกิจได้แล้ว จำนวน 50 รายการจากที่จังหวัดต่างๆ เสนอมา 200 รายการ ประกอบด้วยกลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป 31 รายการ กลุ่มสุขภาพและความงาม 10 รายการ กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และทุนวัฒนธรรม 6 รายการ และกลุ่มเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3 รายการ


"เบื้องต้นจะยังไม่ประเมินในแง่มูลค่าว่าจะได้เท่าไร แต่ต้องการสร้างการตื่นตัวของ ผู้ประกอบการและธุรกิจในพื้นที่พัฒนาเพื่อเข้าตลาดต่างประเทศ โดยเชื่อมการทำงานของพาณิชย์จังหวัดกับทูตพาณิชย์ ให้รู้ว่าต้องพัฒนาอะไร ผลิตอะไร ดีไซน์อย่างไร และเตรียมอะไรบ้างที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งสินค้าไทยมีทั้งเจาะตลาดทั่วไป ตลาดเฉพาะกลุ่ม (นิชมาร์เก็ต) และเป็นส่วนหนึ่งช่วยผลักดันยอดส่งออกปลายปีนี้ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้แน่ และสามารถทดแทนผลกระทบจากสงครามการค้า (เทรดวอร์) และเมื่อสินค้าไทยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศก็จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นด้วย" น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมทูตพาณิชย์ต่างๆ ได้สะท้อนความต้องการของตลาดส่งออก ทั้งสหรัฐตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา อินเดีย จีน และอาเซียน ยืนยันว่าสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการและสินค้าท้องถิ่นมีโอกาสส่งออกได้ โดยระบุสินค้าที่มีศักยภาพ คือ กลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม ผลไม้ ของตกแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์ความงาม-สปา สินค้าเพื่อสุขภาพและดูแลสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นต้น ขณะเดียวกันทูตพาณิชย์เตือนให้ผู้ส่งออกต้องคำนึงถึงต้นทุนขนส่ง การใช้สิทธิประโยชน์ ตรวจสอบกฎระเบียบก่อนส่งออก สินค้าต้องมีการจดทรัพย์สินทางปัญญา และมีเอกลักษณ์ รวมถึงใช้ประโยชน์ได้มากกว่าสินค้าคู่แข่ง เนื่องจากหลายประเทศใช้นโยบายประหยัด และการย้ายฐานลงทุนเพื่อลดต้นทุนและตั้งราคาต่ำกำลังเป็นแนวโน้มการทำธุรกิจ


ส.อ.ท.ยันส่งออกโต0-1%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ว่า ไทยได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบจากเทรดวอร์ ดูจากการส่งออก 4 เดือนแรกของไทยไปสหรัฐ ขยายตัว 25.7% เนื่องจากหลายกลุ่มสินค้าไทยส่งออกได้แทนจีน แต่การส่งออกไปจีนติดลบ 8.1% เพราะสินค้าไทยไปจีนจะเป็นห่วงโซ่ในการผลิต และเห็นด้วยกับแนวทางตั้งวอร์รูมโดยดำเนินการให้ได้โดยเร็ว รวมถึงมาตรการที่รัฐใช้ในการพยุงการส่งออก


"สำหรับตัวเลขการส่งออกภาคเอกชนยังประเมินไว้ที่ขยายตัว 0 ถึงบวก 1% บนสมมุติฐานหลัก คือ ค่าเงินบาท 31.5-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สหรัฐไม่ขึ้นภาษีสินค้าจากจีนที่เหลืออีก ที่คิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.4-3.5% ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะปรับอย่างไรคงต้องรอนโยบายจากประชุมร่วมในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ที่รองนายกฯสมคิดมามอบนโยบายด้วย" นายเกรียงไกรกล่าว


แจงเหตุไมเนอร์ตกคุณสมบัติ

วันเดียวกัน นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศ ยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้โพสต์ เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นกรณี บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ตกคุณสมบัติการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า ข้อเท็จจริงคือผู้ที่มาซื้อซองเข้าประมูลคือ MINT ซึ่งเป็นบริษัท โฮลดิ้ง ที่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารงาน โดยบริษัทลูกที่มีประสบการณ์ในการบริหารงานคือ ไมเนอร์ฟู้ดส์ ซึ่งในการประมูลที่ผ่านมาทั้งท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานภูเก็ต ไมเนอร์ฟู้ดส์เป็นผู้เข้าประมูลมาโดยตลอด


นายนิตินัยกล่าวว่า ทอท.เปิดให้ยื่นรายชื่อ ผู้ร่วมค้า หรือผู้ร่วมทุน ได้ภายในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อเลยกำหนดระยะเวลาแล้ว MINT ไม่ได้มีการยื่นรายชื่อใดเพิ่มเติม ทาง ทอท.จึงขอชี้แจงว่าการที่ MINT ได้ออกแถลงข่าว โดยกล่าวว่าไมเนอร์ฟู้ดส์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ MINT นั้น ทอท.ไม่ได้ปฏิเสธประเด็นดังกล่าว แต่หากไมเนอร์ฟู้ดส์และ MINT เป็นคนละนิติบุคคลกัน โดยเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นผู้ซื้อซองเท่านั้น ถึงยื่นประมูลได้ ดังนั้น หากต้องการใช้ประสบการณ์ของไมเนอร์ฟู้ดในการยื่นประมูล ก็สามารถดำเนินการได้โดยให้ไมเนอร์ฟู้ดส์เป็นผู้ซื้อซองและยื่นประมูล อย่างไรก็ตาม หาก MINT ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ทาง ทอท.ก็จะเปิดโอกาสให้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะผ่านคุณสมบัติฯ แต่เมื่อมีการใช้นิติบุคคลหนึ่งยื่นเข้าแข่งขัน โดยใช้ประสบการณ์ความสามารถของอีกนิติบุคคลหนึ่งนั้น ไม่สามารถทำได้ตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในทีโออาร์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ทอท.จะสรุปผลการประมูล เพื่อสรุปเสนอคณะกรรมการรายได้ ทอท. ในวันที่ 12 มิถุนายน 2562 และจะนำเรื่องไปเสนอคณะกรรมการ ทอท. ในวันที่ 19 มิถุนายน 2562 คาดว่าจะลงนามสัญญาได้เร็วที่สุดเดือนกรกฎาคม หรืออย่างช้ากลางเดือนสิงหาคมนี้


ไม่รีบเซ็นซีพีทำรถไฟ

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ให้ลงนามสัญญากับกลุ่มการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพีเอช) ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลโครงการว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งมอบพื้นที่ และอยู่ระหว่างการศึกษารายงานผลสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หากมีการดำเนินการในส่วนนี้เสร็จสิ้นจึงจะมีลงนามในสัญญาร่วมกับกลุ่มซีพีเอชต่อไป อาจจะลงนามวันที่ 15 มิถุนายนนี้ หรือช้ากว่ากำหนดเดิมก็ได้ เพราะอยู่ในข้อตกลงอยู่แล้ว


"เรื่องการลงนามในสัญญาทั้ง รฟท. และกลุ่มซีพี รับทราบดีอยู่แล้ว จึงไม่เป็นปัญหา ประเด็นดังกล่าวผมมองว่าจะมีการเซ็นสัญญาเมื่อดำเนินการทุกขั้นตอนเสร็จสิ้น คือจะมีการเซ็นสัญญาภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน หรือในรัฐบาลชุดใหม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะขั้นตอนต่างๆ ได้มีการพูดคุยกันเสร็จสิ้นหมดแล้ว ทาง รฟท.ได้เร่งการดำเนินการแต่การศึกษาเรื่องอีไอเอต้องใช้เวลา และต้องทำให้รอบคอบที่สุด" นายวรวุฒิกล่าว


นายวรวุฒิกล่าวว่า นอกจากนี้ ในเรื่องที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าหากมีการเซ็นสัญญาในช่วงนี้หวั่นว่าจะซ้ำรอยคดีโฮปเวลล์นั้น มองว่าเรื่องนี้อยู่ที่การบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่หรือชุดเดิม เชื่อว่าหากบริหารดีไม่เกิดการซ้ำรอย รฟท.มั่นใจว่าขณะนี้มีการบริหารโครงการร่วมกันจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการพิจารณาในเรื่องสำคัญต่างๆ อย่างรอบคอบ จึงมั่นใจได้ว่าไม่เกิดการซ้ำรอยคดีโฮปเวลล์แน่นอน


ขั้นตอนคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล

ที่สำนักงาน กสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ได้ประกาศหลักเกณฑ์การคืนหนังสือค้ำประกันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ตามประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถขอคืนหนังสือค้ำประกันที่วางไว้ โดยให้ผู้ที่ต้องการรับคืนแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือและยื่นความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2562


นายฐากรกล่าวว่า สำนักงาน กสทช.จะคืนหนังสือค้ำประกันตามเงื่อนไข ดังนี้ ผู้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตครบถ้วนทั้งหมดจะสามารถรับหนังสือค้ำประกันคืนทั้งหมดภายใน 7 วัน ส่วนผู้ประกอบการที่ยังชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ไม่ครบถ้วน สำนักงาน กสทช.จะคืนหนังสือค้ำประกันการชำระเงินงวดที่ 5 และ 6 คืนภายใน 7 วัน และจะคืนหนังสือค้ำประกันงวดที่ 4 คืนภายหลังชำระค่าธรรมเนียมงวดที่ 4 ครบถ้วนแล้ว หรือเมื่อ กสทช.ได้หักค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระนั้นจากค่าชดเชย กรณีมีการคืนใบอนุญาต ทั้งนี้ การชำระค่าธรรมเนียมงวดที่ 4 จะต้องชำระตามกำหนดหากไม่สามารถชำระได้ตามกำหนดผู้รับใบอนุญาตจะต้องชำระอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5


สปริงนิวส์แถม1เดือนให้พนง.

"ตามที่สำนักงาน กสทช.ได้ให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลที่แจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตทั้ง 7 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 แฟมิลี่ (ช่อง 13), ช่องเอ็มคอตแฟมิลี่ (ช่อง 14), ช่องสปริงนิวส์ (ช่อง 19), ช่องไบรท์ทีวี (ช่อง 20), ช่องวอยซ์ ทีวี (ช่อง 21), ช่องสปริง (ช่อง 26) และช่อง 3 เอสดี (ช่อง 28) ส่งแผนเยียวยาผู้บริโภค งบบัญชี และแผนเยียวยาพนักงานให้สำนักงาน กสทช.ภายใน 60 วัน ขณะนี้มี 1 บริษัทส่งเรื่องมาแล้ว คือช่องสปริงนิวส์ โดยการเยียวยาพนักงานได้แจ้งว่า จะจ่ายเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายแรงงาน และจ่ายเพิ่มในอัตราเงินเดือนสุดท้าย 1 เดือน ทั้งนี้ สำนักงานจะส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณาเงินเยียวยาช่องทีวีดิจิทัล พิจารณาและนำเรื่องเข้าที่ประชุม กสทช.ในการประชุมครั้งต่อไป" นายฐากรกล่าว


นายฐากรกล่าวว่า การจ่ายเงินชดเชยพนักงานที่เลิกจ้าง หากช่องอื่นจะให้มากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด พร้อมจ่ายเพิ่มเติมอีก 1 เดือนเป็นพิเศษเพิ่มให้ ตามอัตราเงินตามที่ปัจจุบันได้รับ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ให้เพิ่ม เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับเป็นกรณีพิเศษ ส่วนจำนวนคนที่จะถูกเลิกจ้างนั้น ทางช่องไม่ได้แจ้งจำนวนมา ดังนั้น ขอให้ช่องอื่นอีก 6 ช่อง ส่งแผนทั้งหมดมาโดยเร็ว เพราะหากได้รับการพิจารณาเร็วก็จะได้รับเงินคืนเร็วขึ้นด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกฎหมายแรงงานการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เป็นดังนี้ 1.อายุงานครบ 120 วันขึ้นไป แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน 2.อายุงานครบ 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน 3.อายุงานครบ 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน 4.อายุงานครบ 6 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน และ 5.อายุงานครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน


บรรยายใต้ภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


มติชน | 30 พ.ค. 2562 | หน้า 1 |

ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page