top of page

พลังผู้หญิงยุค 4.0


บรรยายใต้ภาพ คุณวิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) จำกัด คุณชู เลง โก ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพ และโรงแรมเลอเมอริเดียน กรุงเทพ คอลัมน์ ติดอาวุธ: พลังผู้หญิงยุค 4.0

ยังมีอีกหลายประเทศในโลกนี้ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงจะก้าวไปเป็นผู้นำในองค์กรได้น้อยกว่าผู้ชาย ช่องว่างดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพเท่าที่ควร

วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท บีดับเบิ้ลซี คอลซัลติ้ง เปิดเผยในงานฟอรัมความเป็นผู้นำของผู้หญิง 2017 จัดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ว่า พลังผู้นำของผู้หญิงในองค์กร He for She ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ของผู้หญิง พบว่า ประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เพราะผู้หญิงเก่งจำนวนมากเมื่อแต่งงานแล้วต้องทำงานอยู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ประเทศ ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทำงานน้อย คือ เกาหลี และเยอรมนี ส่วนประเทศที่ยอมรับให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานและก้าวเป็นผู้นำ คือ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจผู้บริหารทั่วโลก 6.3 หมื่นคน จาก 170 ประเทศทั่วโลก แนวโน้มองค์กรต่างๆ รับสมัครผู้หญิงทำงานมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันผู้หญิงก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติที่ว่า ต้องเลือกระหว่างทำงานกับครอบครัว ที่ผ่านมาปัญหาของผู้หญิงคือ จะลาออกจากงานเมื่อแต่งงานหรือมีลูก ซึ่งความเป็นจริงผู้หญิงสามารถเลือกได้ทั้งทำงานและครอบครัวไปพร้อมๆ กัน เพราะเป็นยุคที่หลายบริษัทเปิดโอกาสให้สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา

"การที่จะเสริมให้ผู้หญิงก้าวสู่การเป็นผู้นำในองค์กร การสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อให้เกิดคอนเนกชั่นการทำงาน ดังนั้นควรใช้เวลาสังสรรค์ในเวลานอกงานบ้าง หากต้องการสร้างโอกาสใหญ่ๆ ให้กับตัวเองและธุรกิจเติบโต สำหรับวัฒนธรรมดังกล่าว ในอาเซียนยังมีน้อย ส่วนใหญ่ ผู้หญิงทำงานแล้วจะรีบกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวมากกว่า" วิไลพร กล่าว

ชู เลง โก ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพ และโรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพ กล่าวว่า "ผู้หญิง" มีความหมายสำหรับการดำเนินธุรกิจในยุโรป เพราะองค์กรเหล่านั้นต่างตระหนักดีว่า ถ้าเหลือผู้ชายทำงานอย่างเดียว จีดีพีของประเทศจะเติบโตไม่ได้ เนื่องจากการทำงานระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายความคิดมีความแตกต่างกัน โดยองค์กรต่างๆ ระบุว่า ผู้นำในองค์กรต้องมี 9 ด้านที่ดี แต่พบว่า ผู้ชายจะมี 3 ด้านที่เก่ง และผู้หญิงมี 5 ด้านที่เก่ง เมื่อนำมาผสมผสานการทำงานร่วมกันบริษัทนั้นๆ ก็มีความก้าวหน้า

ขณะที่ กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ อดีตกรรมการและกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บทบาทการเป็นผู้นำในองค์กรที่ดี สิ่งที่เป็นความท้าทาย คือ การทำงานร่วมกับคน การบริหารบุคลากรในองค์กรโดยเฉพาะการตัดสินใจโยกย้ายหรือแต่งตั้งตำแหน่งใหม่ๆ ทำได้ยากมาก ขณะที่บทบาทระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายต้องเท่าเทียมกัน ผู้หญิงต้องทำงานได้ทุกอย่าง ไม่มีข้อจำกัดแม้กระทั่งต้องไปทำงานนอกสถานที่ อย่ามองว่าต้องได้สิทธิพิเศษ

ทั้งนี้ แนวคิดของผู้หญิงทำงาน ต้องเข้าใจว่าอยากได้อะไร ระหว่างครอบครัวกับหน้าที่ของการทำงาน ถ้าเลือกครอบครัวมาก่อน ก็ต้องยอมรับว่าโอกาสการก้าวหน้าในอาชีพทำงานจะมีน้อยกว่า และต้องอยู่อย่างมีความสุขไม่ต้องเป็นท็อป ออฟ เดอะ เวิลด์ ก็ได้ ซึ่งการทำงานระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกันบ้างนิดหน่อย แต่ตำแหน่งระดับผู้บริหารแล้ว พิจารณาถึงขีดความสามารถการทำงานมากกว่าที่จะมองเพศหญิง ชาย เพศที่สาม การได้รับโปรโมทก็ต้องดูว่า ยิ่งสูงยิ่งต้องมองไกล

เมื่อโลกเปลี่ยนไว ทัศนคติการทำงานกับคนเจเนอเรชั่นเอ็กซ์และวาย ในมุมของผู้นำต้องปรับ ต้องเคลื่อนไหวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง การทำงานในสมัยนี้ต้องทดลองสิ่งใหม่ๆ ตลอด การบริการคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีรอยัลตี้องค์กร แม่เหล็กที่ดึงดูดให้ทำงานได้ คือ ต้องทำให้การทำงานมีความสุข และการมอบหมายงานต้องมีความท้าทาย

หมดยุคผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังไปเสียแล้ว การก้าวสู่ผู้หญิงในยุค 4.0 คิดใหม่ ทำใหม่ คอนเซ็ปต์ เวิร์กกิ้งมัม ภายใต้การใช้เทคโนโลยี มีมุมมองที่กว้างไกล การก้าวสู่ผู้นำองค์กรคงไม่ใช่เรื่องยาก

โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560



ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page