รัฐบาลเร่งผลักดันการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ กรุงเทพฯ – นายกฯ สั่งเสริมความแข็งแกร่งของประเทศ มุ่งเน้นความเชื่อมโยงการพัฒนาทุกภาคส่วน กำหนดให้การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นวาระแห่งชาติ ย้ำให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำ-ชี้ปัญหาอุปสรรคต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถและภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน พร้อมเห็นชอบแต่งตั้งอนุกรรมการ 6 คณะเร่งเครื่องยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เมื่อปีที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงการดำเนินงานทั้งภาครัฐและเอกชน และติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา กพข. ได้มีการประชุมและได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาการพัฒนาในระยะที่ผ่านมาว่า ยังขาดการบูรณาการระหว่างภาครัฐ-เอกชน การดำเนินงานเพื่อผลระยะยาวไม่ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญ และการดำเนินงานไม่มีความต่อเนื่อง ด้วยเหตุดังกล่าว นายกฯ ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศรวม 6 ชุด ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการที่ทำหน้าที่กำกับดูแลทั้งทางด้านเศรษฐกิจมหภาคและการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และคณะอนุกรรมการที่ดูแลประเด็นพื้นฐานที่จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพของภาคธุรกิจให้แข่งขันได้ อาทิ การพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และมีคณะกรรมการอีกหนึ่งคณะที่ทำหน้าที่บริหารจัดการด้านข้อมูลและการสื่อสารเชื่อมโยง รวมทั้งประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการในด้านต่างๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นประเด็นสำคัญว่า “ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกัน โดยภาคเอกชนเป็นผู้นำในการพัฒนา เป็นผู้ระบุประเด็นปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไข ในขณะที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญและอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นอกจากนี้ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว ให้แนวทางการทำงานกับคณะอนุกรรมการทั้ง 6 คณะว่า “ควรมุ่งเน้นการพัฒนาและแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ที่เป็นจริงของประเทศ โดยภาคเอกชนเป็นผู้เสนอประเด็นปัญหาที่ภาครัฐจะต้องแก้ไข และหน่วยงานรัฐจะต้องหาทางดำเนินการแก้ไข ซึ่งหากทำสำเร็จก็ส่งผลถึงอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และในขณะเดียวกันจะต้องมีการสื่อสารข้อมูลที่ตรงตามความเป็นจริงเพื่อสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องให้ผู้ตอบแบบสำรวจของสถาบันจัดอันดับต่างๆ ด้วยอีกทางหนึ่ง” หลังจาก นายกฯ ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 6 คณะ และกำหนดให้คณะอนุกรรมการแต่ละคณะจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) โดยกำหนดเป้าหมาย แนวทางการกำกับติดตามการดำเนินงาน และรายงานผลต่อนายกรัฐมนตรีทุก 3 และ 6 เดือน คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและสื่อสารประชาสัมพันธ์ และประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA Center for Competitiveness) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กล่าวว่า “การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะเป้าหมายหลักคือ การสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศและสามารถกระจายความมั่งคั่งนั้นให้ประชาชนในประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันเราอยู่ในโลกการค้าเสรี ที่แต่ละประเทศจะต้องสร้างความขีดความสามารถของตนเองโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญและได้แสดงความตั้งใจจริงมุ่งมั่นกับเรื่องนี้มาก โดยย้ำในการประชุมคณะกรรมการ กพข. ที่ผ่านมา ให้มีการศึกษาประเด็นที่ต้องเร่งปรับปรุงและจัดทำแผนปฏิบัติการภายใน 1 เดือน ซึ่งต้องมีการรายงานผลการปฏิบัติให้ทราบทุก 3 เดือน และกล่าวอย่างชัดเจนถึงบทบาทของภาคเอกชนว่าเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาครัฐจะต้องเป็นผู้สนับสนุนอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนทำงานได้” “นอกเหนือจากการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ แล้ว ประเด็นด้านการจัดการและปรับฐานข้อมูลของประเทศที่จัดทำโดยส่วนราชการต่างๆ ให้ทันสมัยและมีความสอดคล้องกันก็ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับของสถาบันต่างๆ สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง คณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและสื่อสารประชาสัมพันธ์จึงมีบทบาทสองด้าน ด้านหนึ่งคือการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชนให้ทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อสร้างความรับรู้ที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันต้องจัดทำกรอบทิศทางด้านการจัดการข้อมูลและตัวชี้วัดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศของหน่วยงานต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกัน และประสานกับ partner institution ของสถาบันจัดอันดับต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง” คุณเทวินทร์กล่าวทิ้งท้าย ตามแนวทางการทำงานที่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้ ************************************* สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โทร. 02 319 7677 ต่อ 253,170 แฟกซ์ 02 319 5666 วิทยา วงศ์หล่อ (ปิ๊ก) ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ เบอร์โทร. 080 022 9999 , E-mail : wittaya@tma.or.th ข้อมูลทั่วไป คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ได้พิจารณาแนวทางการทำงานของคณะกรรมการ กพข. และมีมติให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ 6 ชุด ดังนี้ 1. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหาภาค (Macroeconomic Stability) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน 2. การพัฒนาคลัสเตอร์ (Cluster) ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เป็นประธาน 3. การพัฒนาเชิงกายภาพ (Physical Development) พื้นที่/โครงสร้างพื้นฐาน/โลจิสติกส์/เขตเศรษฐกิจพิเศษ นายภราเดช พยัฆวิเชียร เป็นประธาน 4. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) รวมทั้ง R&D และ วทน. นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธาน 5. การพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) รวมทั้ง การพัฒนากระบวนการทางศุลกากร (Customs Procedures) นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ เป็นประธาน 6. การจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ (Data Management and Communication) นายเทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นประธาน
Comments