top of page

Ban Muang - TMA เชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน STI เสนอแนวทางสร้างความร่วมมือ วทน.พร้อมมอบรางวัลพร์ราชทาน



สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เปิดเวทีสัมมนาภายใต้หัวข้อ "Creating the Right Ecosystem : Collaborating to Innovate" เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กร เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานทั้งจากภายในและภายนอก ดึงผู้บริหารองค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีด้วยระบบนวัตกรรมแบบเปิด ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงานที่มีคุณภาพ พร้อมมอบรางวัลพระราชทาน "นักเทคโนโลยีดีเด่น" บนเวที สัมมนา STI Forum And Outstanding Technologist Awards 2016 น.ส.วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA เปิดเผยว่า ปัจจุบันการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศที่ทุกองค์กรและผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญและนำเรื่องเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งในเวทีนี้เน้นหนักในเรื่องของนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ที่ได้ถูกนำเข้ามาเพื่อสร้างความร่วมมือด้านพันธมิตรกับองค์กรต่างๆ โดยที่องค์กรไม่จำเป็นจะต้องคิดค้นนวัตกรรมเพียงแค่ภายในองค์กรอีก แต่สามารถนำกระบวนทัศน์ใหม่ที่สร้างให้องค์กรเกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดและพร้อมเปิดใจรับแนวคิดใหม่ๆ จากองค์กรภายนอก โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างองค์กรที่มีธุรกิจสอดคล้องกันร่วมกันวิจัยและพัฒนาจากภายในและภายนอกองค์กร เพื่อเติมเต็มและสร้างสรรค์เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตใหม่ๆ ที่สามารถลดระยะเวลาในการคิดค้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จถึงโอกาสความได้เปรียบในการแข่งขัน และยังสามารถตอบสนองความต้องการของตลาด หรือกลุ่มลูกค้าได้อีกด้วย น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานกรรมการ รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น กล่าวว่า โครงการรางวัลพระราชทาน "นักเทคโนโลยีดีเด่น" มอบให้แก่นักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานโดดเด่นด้านการวิจัยและพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจให้กับนักวิจัยที่มีความมานะ อุตสาหะ และทุ่มเทให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยให้สามารถแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ "ความยากในการตัดสิน คือ ผลงานที่ส่งเข้ามามีความหลากหลายทางวิชาการ การเปรียบเทียบระหว่างสาขาวิชาซึ่งมีความยากง่าย และซับซ้อนในกระบวนการพัฒนาต่างกัน เป็นความท้าทายของคณะกรรมการอย่างมาก ซึ่งต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบและครอบคลุมในทุกด้าน ดังนั้น ทุกผลงานที่ผ่านเข้ามาในรอบสุดท้ายนี้ ล้วนเป็นผลงานที่มีความโดดเด่นทั้งสิ้น" น.สพ.รุจเวทย์ กล่าว โดยรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ทางมูลนิธิฯ มีเกณฑ์ในการพิจารณาและเฟ้นหาบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลทั้งมิติด้านการพัฒนาทางเทคโนโลยีและมิติด้านบุคคล มีคณะกรรมการคัดเลือกที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา จากทั้งมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน พิจารณาให้ความเห็นในขั้นแรก โดยพิจารณาทั้งจากเอกสาร และมีการเข้าไปเยี่ยมชมในสถานที่จริง หลังจากนั้นผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องประชุมพิจารณาและประมวลผลอย่างเข้มข้น และมีคณะกรรมการอภิปรายในแต่ละโครงการ โดยพิจารณาตัดออกเป็นรอบๆ จนเหลือโครงการที่มีความโดดเด่นในทุกๆ ด้าน ผลการตัดสินในรอบสุดท้ายจะต้องมาจากมติที่เป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน สำหรับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2559 คือ รศ.ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ ภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์โรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงานการพัฒนาการตรวจเชื้อมาลาเรียที่มีความไวสูง (ultra-sensitive qPCR) เพื่อค้นหาผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการของโรค และ รศ.ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี และสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของผลงานเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าเพื่องานในอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ส่วนรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2559 ได้แก่ รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เจ้าของผลงานเครื่องวัดปริมาณมวลฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ในอากาศด้วยเทคนิคไฟฟ้าสถิต ทั้งนี้ ในปีนี้มีโครงการที่ส่งเข้าประกวด 54 โครงการ แบ่งเป็นผลงานนักเทคโนโลยีดีเด่น 36 โครงการ และผลงานนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 18 โครงการ ซึ่งสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมถ์ ประกาศผลรางวัลพระราชทานนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2559 เพื่อเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับประเทศได้ ที่มา : บ้านเมือง ฉบับวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559


ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commenti


bottom of page