top of page

Open Innovation ทางลัดสู่ไทยแลนด์ 4.0



เรื่อง รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย


ในโลกยุคดิจิทัลที่วงการธุรกิจเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และส่งกระทบต่อธุรกิจอย่างรุนแรง ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากการผลิตหรือขายสินค้าไปสู่สินค้าเชิง "นวัตกรรม" และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์


เฮนรี่ เชสโบร์ว กรรมการบริหาร ศูนย์พัฒนานวัตกรรมแบบเปิด สถาบันพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะ "บิดา" หรือผู้บุกเบิกเรื่อง นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ได้กล่าวในหัวข้อการใช้นวัตกรรมแบบเปิด จัดขึ้นโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยหรือทีเอ็มเอว่า ทำไมนวัตกรรมแบบเปิดจึงเป็นคำตอบของการเติบโตและการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะการสร้างนวัตกรรมไม่จำเป็นที่ต้องเริ่มจาก "วิจัยและพัฒนา" ภายในองค์กรอย่างเดียว


ทั้งนี้ องค์กรสามารถ "เปิดรับ" องค์ความรู้จากภายนอกมาร่วมสร้างนวัตกรรม และนำมาประยุกต์ใช้หรือสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งช่วยลดต้นทุน ทำให้สินค้าออกสู่ตลาดเร็วขึ้น สร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ และรายได้ให้บริษัท ซึ่งแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดเพิ่งเกิดขึ้นในไทยได้ 10 ปี การที่ธุรกิจไทยจะก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต้องเปลี่ยนปรับมุมมองใหม่ๆ


"นวัตกรรมแบบเปิดเป็นการใช้ความคิดทั้งในและนอกองค์กร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเอาชนะคู่แข่ง และขณะเดียวกันเราก็ควรทำกำไรโดยให้คนอื่นใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของเรา และเราก็ควรซื้อทรัพย์สินทางปัญญาของคนอื่นถ้าเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนารูปแบบธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น"


อย่างไรก็ดี เชสโบร์ว ได้ยกตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จจากการใช้นวัตกรรมแบบเปิด คือ การที่พนักงาน Xerox นำงานวิจัยเรื่อง Ethernet ซึ่งเป็นระบบ LAN (Local Area Network) ของ Xerox ออกมาใช้นอกองค์กรทำให้เกิดกิจกรรมธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมาย นอกจากนี้งานวิจัยของ Xerox ชิ้นอื่นๆ ก็ได้แตกมาเป็นบริษัทอื่นๆ เช่น 3com และ Adobe ซึ่งงานวิจัยทั้งหมดเมื่อนำมาสร้างธุรกิจทำให้มีมูลค่ารวมมากกว่ามูลค่าธุรกิจของ Xerox เป็นเท่าตัว


สำหรับในไทยเอสซีจีเป็นองค์กรตัวอย่างที่ดีในไทยในเรื่องการทุ่มงบเพื่องานวิจัย เพราะในแนวทางนวัตกรรมแบบเปิด บริษัทไม่เพียงแต่หาคุณค่าจากนอกองค์กร แต่ยังต้องลงทุนเพื่อพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าในองค์กร เพื่อที่จะดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกให้มาร่วมลงทุน เพื่อเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินทางปัญญา


ขณะที่การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 สามารถใช้นวัตกรรมแบบเปิด ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในชนบท เช่น มีโครงการเริ่มที่หมู่บ้านโมริ ซึ่งมีประชากร 6,000 คน ในอินเดีย ให้กลายเป็นหมู่บ้านอัจฉริยะ ครอบครัวพันกว่าครัวเรือนสามารถใช้ไว-ไฟ โดยเงินที่ใช้ในโครงการเป็นเงินลงทุนจากบริษัท ไอบีเอ็ม ราวกว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้งได้ให้องค์ความรู้และเทคโนโลยีกับชาวบ้านในด้านการเกษตร สิ่งทอ และฟาร์มกุ้ง ขณะที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงตลาดหรือผู้ซื้อโดยตรงไม่ผ่านคนกลางจากการใช้อินเทอร์เน็ต


ทำไมไอบีเอ็มถึงต้องลงทุน เมื่อเข้าถึงชาวบ้านในอนาคตอาจเป็นลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์บริษัท และจากการทุ่มเทให้โครงการสำเร็จ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจขยายโครงการไปอีก 3,000 หมู่บ้าน ปีหน้าอาจจะขยาย 5 หมื่นหมู่บ้าน ไทยก็สามารถนำรูปแบบนี้ไปพัฒนาชนบท เพราะคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในชนบท เมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศมีฐานะดีขึ้น ศักยภาพทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของประเทศก็ย่อมดีขึ้นนั่นเอง


โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ดู 307 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Yorumlar


bottom of page