ธุรกิจปฏิวัติองค์กรก้าวข้ามสู่'ยุคดิจิทัล'
วานนี้ (29 มี.ค.) สมาคมการจัดการ ธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดเสวนา "Thailand ICT Management Forum 2018" ภายใต้หัวข้อ "Shaking Business Foundation : The Effect of Digital Trend" เพื่อยกระดับศักยภาพองค์กรในไทยขับเคลื่อนธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล มีรายละเอียดดังนี้
กรุงเทพธุรกิจอริยะ พนมยงค์กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ปาฐกถาในหัวข้อ Power of Business Transformation ว่า การเปลี่ยนผ่านธุรกิจใหม่ไปสู่โลกดิจิทัล มีสมาร์ทโฟน และเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ เข้ามามีอิทธิพลในการสื่อสาร
ขณะที่การสื่อสารผ่านไลน์ คือ แพลตฟอร์มที่คนนิยม และยังเข้ากับพฤติกรรมการสื่อสารของคนไทย โดยเป็น 1 ใน 3 แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มาแรงที่สุดในไทย นอกเหนือจาก เฟซบุ๊ค และยูทูบ
ขณะที่ผู้ประกอบการยุคดิจิทัล ไอที ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรก คือ กลุ่มสตาร์ทอัพ มีไอเดียดี มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มได้แบบพลิกโลก แต่ขาดเงินทุน
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่มีกำลังเงิน แต่ขาดคความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมธุรกิจ และกลุ่มสุดท้ายคือ แพลตฟอร์มที่มีความพร้อมทั้งเงินทุน และไอเดียทางธุรกิจ พร้อมกับนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดคือกลุ่มที่ 3 หรือแพลตฟอร์มที่มีความพร้อมทั้งแหล่งเงินทุน และไอเดีย นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเกิดขึ้นมากในจีนทำให้แพลตฟอร์มมีขนาดใหญ่มากขึ้นจากเดิมที่แพลตฟอร์มนี้จะมาจากฝั่งตะวันตก ตลาดจีนจึงมีความน่าสนใจที่จะเข้าไป ทำตลาด และพัฒนาธุรกิจดิจิทัลที่เติบโต อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ไม่กี่ปี มีหลายกลุ่มธุรกิจ เริ่มเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เป็นต้น"
ขณะที่ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการซื้อขายผ่านออนไลน์ (E-Commerce) เริ่มกลายเป็นธุรกิจที่มาแรง โดยเข้าไปแทรกซึม ในหลากหลายแพลตฟอร์ม อย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ โดยเฉพาะปีนี้ถือเป็นตลาดของอีคอมเมิร์ซ มีคู่แข่งเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ขณะที่หลายธุรกิจต่างช่วงชิงความได้เปรียบโดยใช้อีคอมเมิร์ซเป็นเครื่องมือ เข้าถึงผู้บริโภคอย่างเหนือความคาดหมาย ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับการแข่งขันในสนามนี้ ทั้งการตั้งรับ อยู่ในประเทศ และการออกไปแสวงหาโอกาสธุรกิจในต่างประเทศ
"ตลาดอีคอมเมิร์ซในเมืองไทยจะเผชิญกับสงครามราคามากขึ้น เพราะ ผู้เล่นนอกประเทศเข้ามาแข่งขัน"
เขายังกล่าวว่า ระบบการบริหารจัดการกระจายสินค้า (Logistics) ยังเป็นสิ่งที่เติบโตควบคู่กันกับตลาดอีคอมเมิร์ซ จะเห็นได้จากการเติบโตของแบรนด์เคอรี่ (Kerry) และไปรษณีย์ไทย รวมไปถึงระบบการชำระเงินออนไลน์ (E-Payment) เป็นสิ่งหนึ่ง ที่เข้ามาทดแทนตลาดเดิม ทำให้ธนาคาร ต้องโดดเข้ามาในตลาดนี้อย่างเต็มตัว
"ทุกธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงพัฒนาแอพลิเคชั่น ที่ปัจจุบันมีมากถึง 3 ล้านแอพลิเคชั่น เพราะหากพัฒนามาแล้วไม่มีคนใช้ก็ไม่คุ้มค่า กับการลงทุน โดยสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการนำฐานข้อมูลมหาศาล (Big Data) มาใช้ประมวลผล พัฒนาธุรกิจและการบริการลูกค้า"
ชลลักษณ์ มหาสุวีระชัย Digital Business Lead บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์- ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า เอสซีจีเป็นองค์กร 100 ปีที่ต้องปรับตัวเองให้ทันกับยุคดิจิทัล เพราะเติบโตมากับการผลิตสินค้า ที่เป็นวัสดุ แต่เมื่อโลกยุคใหม่ที่มีดิจิทัลเข้ามา เกี่ยวข้อง จึงต้องปรับตัวเองให้เป็นธุรกิจ ที่เชื่อมต่อกับผู้บริโภคให้ใช้ชีวิตดีขึ้น แทนการ มุ่งจำหน่ายสินค้า
โดยพัฒนาจาก 2 ด้านคือ เปลี่ยนจากภายนอก โดยการพัฒนาสตาร์ทอัพ นำไปสู่ การพัฒนาสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรม ให้เข้ามาแทนที่ธุรกิจแบบเดิมๆ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเปลี่ยนจากภายในโดยการดึงคนที่มีแนวคิดเป็นผู้ประกอบการ และชอบทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มาพัฒนาใหม่ หากสำเร็จก็พร้อมปั้นเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่โดยให้ผู้คิดเป็นผู้นำในธุรกิจนั้น หากไม่สำเร็จก็ทำให้พนักงานในเอสซีจีได้เรียนรู้ความเหมาะสม ในการเป็นผู้ประกอบการโดยไม่ต้องออกไป เสี่ยงพัฒนาธุรกิจเอง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในเครือเอสซีจี ยังคงเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัสดุ ที่เป็นโครงสร้างของที่ทุกบ้านต้องใช้ จึงต้องเกี่ยวข้องกับทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เอสซีจีจึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มให้เชื่อมออนไลน์และออฟไลน์มาพัฒนาการบริการให้ลูกค้า ขณะเดียวกันก็จะต้องสื่อสารไปหา ผู้บริโภค (BtoC) มากขึ้นจากเดิมที่เน้นการ จำหน่ายธุรกิจต่อธุรกิจ(BtoB) ตลอดจนวางแผนธุรกิจให้สั้นลง จากเดิม 5 ปี มาเหลือ เป็นการวางแผนเป็นรายเดือน จากธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
วีระศักดิ์ กฤษณประพันธ์ ผู้ช่วย ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายสารสนเทศ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทรนด์ธุรกิจรักษาพยาบาลเปลี่ยนจาก มุ่งเน้นการป่วยแล้วค่อยรักษาเป็นการ ป้องกัน
ดังนั้นการเตรียมพร้อมสำหรับเครือ โรงพยาบาลกรุงเทพให้ธุรกิจเติบโตดี ต้อง เตรียมพร้อมพัฒนาธุรกิจตอบโจทย์กระแสดิจิทัล อาทิ การพัฒนาแอพลิเคชั่นและ การบริการให้เชื่อมต่อการฐานข้อมูลลูกค้า ซึ่งจะเป็นการรักษารูปแบบใหม่ที่เก็บ ฐานข้อมูล แทนการตรวจสุขภาพปีต่อปีแล้วจบ ช่วยให้พนักงานรู้สึกถึงการดูแลห่วงใย ที่บริษัทเข้าไปดูแลพนักงาน
"การรักษาพยาบาลในยุคดิจิทัลนอกจากการเติมเต็มเรื่องของเครื่องมือเทคโนโลยี ทันสมัยแล้ว สิ่งสำคัญคือการเข้าใจโลกธุรกิจ ที่จะต้องเริ่มจากความคิดเข้าใจโลกดิจิทัล ซึ่งความท้าทายคือเรายังอยู่ในสถานการณ์ ที่ดี ธุรกิจเติบโต แต่เราก็ต้องคิดถึงการ ดิสรัปชั่นที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมรับมือก่อนความเสี่ยงจะเข้ามาถึง"
ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจจึงคิดพัฒนาแอพลิเคชั่นด้านสุขภาพที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพ ในเบื้องต้นและการประเมินการรักษา รวมถึงเก็บข้อมูลการตรวจสุขภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาดูแลและป้องกันโรค โดยการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆ แต่ละครั้งจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ 3 ด้านคือ หมอ พยาบาล และคนไข้
ด้านกนกพรรณ ศรีวนาภิรมย์ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจได้เตรียม ความพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2015 โดยมีวิสัยทัศน์ก้าวไปเป็นที่หนึ่งด้านดิจิทัลแบรนด์ ในปี2020 เป็น จุดเริ่มต้นแรกที่ต้องเตรียมพร้อมคนในองค์กร ที่ต้องเปลี่ยนตัวเองในทุกรูปแบบ ตั้งแต่กลยุทธ์ ให้สอดคล้องกันกับเทรนด์โลก ที่การสื่อสารจะเปลี่ยนจากบริการทางเสียงไปสู่ข้อมูล ติดต่อผ่านข้อความ แชทบ็อกซ์ มากขึ้น
องค์กรเริ่มต้นตั้งแต่ระดับผู้บริหาร พร้อมกันกับเข้าไปพัฒนาพันธมิตร หลากหลายรูปแบบ และพัฒนาการบริการเชื่อมต่อหลากหลายเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค รวมไปถึงส่งเสริมให้คนในองค์กรคิดพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ จึงมีการอบรมต่อเนื่อง รวมไปถึงพัฒนาแอพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่เข้าไปเชื่อมต่อกับการใช้ชีวิตของผู้บริโภค
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561
Comments