top of page

Moonshot Thinking ข้ามขีดจำกัดสู่ 'ธุรกิจยั่งยืน'



Moonshot Thinking ข้ามขีดจำกัดสู่ 'ธุรกิจยั่งยืน'


โลกกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติจากการพัฒนาธุรกิจ แบบทุนนิยม จนนำสู่ปัญหาอันซับซ้อน ยิ่งพัฒนา ยิ่งเพิ่มภาวะวิกฤติให้กับโลก มีการบริโภคนิยม ไร้ขีดจำกัด นำทรัพยากรที่มีจำกัดมาใช้อย่าง ไม่เป็นธรรม สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ผู้คนในเมืองกลับไม่ได้มีสุขภาพดีขึ้น ขณะที่ยังมีหลายประเทศเผชิญกับ ความหิวโหย ยังไม่นับรวมการขาดปฏิบัติกับมนุษยชาติด้วยความเท่าเทียม


ยิ่งไปกว่านั้น คาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น 8.3 พันล้านคน ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ถึง 1,000 ล้านคน นั่นเท่ากับความต้องการใช้ทรัพยากรอาหารและพลังงานสูงขึ้น ทำให้ทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการบริโภค ที่จะส่งต่อไปยังประชากรรุ่นถัดไป


จึงเป็นที่มาของการนำเสนอ 17 เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN - United Nations) เป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน "หยุดวิกฤติโลกร้อน" ที่มีสภาพอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จนเสี่ยงต่อการเกิดหายนะในที่สุด


ทั้งนี้ UN ได้เริ่มประกาศเป้าหมายดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2558 โดยร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนจาก 175 ประเทศ ภายใต้ความตกลงปารีส และ SDGs (Paris Agreement and the SDGs) ร่วมกัน ขับเคลื่อน SDGs เพราะเห็นว่าจะเป็นทางรอด ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ช่วยแก้ไขปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน สันติภาพ ความสงบสุข พร้อมกันกับ เป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน ปี 2573 (คศ.2030) นี่คือความท้าทายของภาคธุรกิจที่ต้องการมีอายุยืนยาวไปสู่ยุคหน้า จะต้องไม่ทำเพียงความเคยชินและความสำเร็จของการเติบโตแบบเดิมซึ่งไม่เพียงพออีกต่อไป แต่จะต้องคิดถึงโอกาสในอีก 10-20 ปีข้างหน้าก่อนธุรกิจและโลกจะถึงจุดกัลปาวสาน!!


ทั้งนี้ในงานสัมมนา Global Business Dialogue 2019 ที่จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ประจำประเทศไทย ในหัวข้อ "Designing New Growth model Towards Sustainability" เพื่อเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับโมเดลการพัฒนา สู่ความยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำ ระดับโลก ซึ่งนอกจากจะทำให้ธุรกิจมีส่วนช่วย เกื้อหนุนระบบนิเวศทางธรรมชาติแล้ว ยังเอื้อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านโมเดล คิดข้ามโลกพุ่งไกล สู่ดวงจันทร์ (Moonshot Thinking) มานำเสนอ


โดยโมเดลดังกล่าว ถูกออกแบบโดยสถาบัน Futur/io, จากประเทศเยอรมนี เพื่อหวังแก้ไขปัญหา ความซับซ้อนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เป็นการเชื่อมโยงปัญหากับ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ผ่านมาโมเดลดังกล่าว ยังถูกนำไปใช้กับองค์กรระดับโลก อาทิ กูเกิล (Google), ไมโครซอฟต์, ซีเมนส์ (Siemens) และ เลโก้ (LEGO) มาร์ค บัคลี่ย์ ตัวแทนอย่างเป็นทางการขององค์การสหประชาชาติ ด้านเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development Goals) เขายังเป็นสมาชิกเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม และ การแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงใน World Economic Forum และนักธุรกิจเพื่อสังคม ทายาทรุ่นที่ 5 ของเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ ในเยอรมัน และถือเป็นรุ่นที่ 3 ที่ทำเกษตรแนวดิ่ง ปลูกพืชโดยไร้ดิน


อีกทั้งยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Adaptive Nutrition Joint ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% โดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขยะใดๆ ถูกนำมาหมุนเวียนใช้ในฟาร์มอย่างสมดุล โดยมาร์คได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญก่อตั้งสถาบัน Futur/io, Germany ได้นำแนวคิด Moonshot Thinking การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่ออนาคตโลกยั่งยืน ในอีก 20 ปีข้างหน้า วิธีคิดออกแบบธุรกิจให้มีวิสัยทัศน์เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนา SDGs เพื่อก้าวกระโดดพุ่งจรวดไปไกลถึงดวงจันทร์ (Moonshot Thinking)


ความหมายของคำว่า Moonshot ของมาร์ค ไม่ได้คิดไปไกลจนทิ้งโลกที่กำลังเสื่อมโทรมลง แล้ว หนีไปอยู่ดวงจันทร์ แต่หมายถึง การออกแบบวิสัยทัศน์ โมเดลที่มีความใจกล้า บ้าบิ่น คิดข้ามช็อตแบบ ไร้ขีดจำกัด ไม่เกรงกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นในอนาคต ที่ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง หรือธุรกิจ แต่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย ที่พร้อมด้วยจิตสำนึกที่ดีมีคุณธรรม ไม่ต่างจากการออกแบบจรวดที่พาโลก กลับมาสู่จุดสมดุลเต็มไปด้วยความสวยงาม โลกอนาคตที่ดีขึ้น น่าอยู่แบบโตแบบยั่งยืน


เขาจินตนาการถึงวิกฤติของโลกว่าถูกขจัดให้หมดไป ตั้งแต่ปราศจากความยากจน และพี่น้อง ผู้หิวโหย ทุกคนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เข้าถึงคุณภาพการศึกษา มีความเท่าเทียมทางเพศ ในทุกพื้นที่บนโลกใบนี้ มีน้ำและและพลังงานสะอาดเพื่อสนับสนุนภาคการผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีการลงทุนไปกับอุตสาหกรรมพลิกโลก ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ โดยการนำนวัตกรรมและ เทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือ บล็อกเชน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างเทียม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ


หากคนอยู่ในสังคมที่มีการบริหารจัดการ ทรัพยากรอย่างสมดุล ธุรกิจจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะมีการบริโภค การผลิตที่ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรบนโลก นี่คือ ความฝันของการหยุดวิกฤติโลกร้อน และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้ภายในปี 2030


"กระบวนการ Moonshot Thinking เป็นการเริ่มต้นจากการสร้างเป้าหมาย ก้าวกระโดด ระดมแนวคิดจากคนหลากหลาย เพื่อมองถึงอนาคตที่ไม่ใช่เพื่อตัวเอง หรือ คนในยุคปัจจุบัน แต่มองถึงโอกาสในอนาคต ต่อไปข้างหน้าอีก 10-20 ปี ที่ธุรกิจจะสร้าง ประโยชน์ให้กับสังคม และคนรุ่นถัดไป จึงจะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและสร้างมูลค่าได้สูงขึ้น"


เขายังเห็นว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่จะต้องปฏิวัติระบบใหม่ เพราะแม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเก่าแก่ที่สุดมีอายุยาวนานกว่า 12,000 ปี ซึ่งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกทำเงินได้ 13 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซสู่อากาศสูงที่สุด เป็นอุตสาหกรรมที่ปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลน้อยที่สุด ใช้แรงงานสูงที่สุด มีการใช้ทรัพยากรมากที่สุด โดยส่วนใหญ่ยังขาดความสมดุลในการบริหารจัดการทรัพยากร


นี่คือหนึ่งในตัวการหายนะที่ทำให้ โลกล่มสลาย เพราะพื้นที่ทำเกษตรมีจำกัด หากโลกเติบโตในปัจจุบันเราต้องการโลกเพิ่มขึ้นอีก 3 ใบ ทั้งที่ความเป็นจริง เราสร้าง โลกใหม่ทดแทนใบเก่าไม่ได้ เราจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดซะใหม่ !!


โดยเขาระบุว่า ก่อนคิดถึง Moonshot Thinking ต้องเริ่มต้นจากเข้าใจระบบนิเวศในจักรวาล ที่ทุกอย่างสัมพันธ์กันอย่างสมดุล แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นเกิดจากความต้องการ "ควบคุมจักรวาล" เราล้วนเกิดจาก "ละอองดาว" (Stardust) มีองค์ประกอบเดียวกับ ที่มีแบคทีเรียในร่างกายมนุษย์เริ่มหายไปเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตบางชนิดกำลังสูญพันธุ์จากภาวะโลกร้อน


นั่นเพราะพลังงานที่มนุษย์ผลิตขึ้น บนโลกในปัจจุบันทำให้โลกร้อนขึ้นไม่ต่างจาก ระเบิดกว่า 500,000 ลูกต่อวัน นี่คือสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องหันหัวเรือใหม่ ออกแบบธุรกิจที่ไม่พาทุกคนไปสู่ทางตัน ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงต้องร่วมมือข้ามพรมแดน สร้างระบบเพื่อฟื้นฟูโลก


การออกแบบธุรกิจจึงต้องคิดเป็นระบบมีการบูรณาการเชื่อมโยงหลากหลายศาสตร์ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม โดยใช้นวัตกรรมเพื่อปฏิวัติวงการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการเกษตรและ อาหารเพื่อความยั่งยืน ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ หลายบริษัทมีพัฒนาการที่ดีขึ้นใน 5 ปี เช่น เนสท์เล่ (Nestle) มีคะแนนที่ดีขึ้นจาก 61% ในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 69% ในปี 2016 ขณะที่ ยูนิลีเวอร์ (Unilever) จาก 56 %ในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 74% ในปี 2016 และ โคคา - โคล่า (Coca-Cola) จาก 46% ในปี 2013 เพิ่มเป็น 57% ในปี 2016


"การเอาชนะทางด้านธุรกิจ เป็นเกมที่แข่งขันต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น จนถึง ทางตันเติบโตไม่ได้ภายใต้ทรัพยากร และพลังงานที่มีจำกัด สุดท้ายธุรกิจก็ ไม่อยู่รอดดังนั้นจึงต้องมองธุรกิจที่แตกต่าง ปรับวิสัยทัศน์ในการเชื่อมโลกให้เป็น หนึ่งเดียวกัน" เขากล่าว


4บันไดบนผืนผ้าใบ'Moonshot'


ในสัมมนาดังกล่าว มาร์ค และสถาบัน Futur/io โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย มิคก้า ไลน์โอเนน (Miikka Leinonen) ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์นวัตกรรม จาก Ghost ฟินแลนด์ และ ฟรีเดอริเก้ รีมเมอร์ (Friederike Riemer) นักวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์อนาคต จากสถาบัน Futur/io เยอรมนี มาจัดทำเวิร์คช็อปให้องค์กรชั้นนำได้ร่วมออกแบบความคิดล้ำๆ แบบโมเดล Moonshot ใน 4 ขั้นตอน เป็นโมเดลที่จะใช้เติมบนผืนผ้าใบกรอบ 4 เหลี่ยมในแบบ (Canvas Model)


1.กรอบการมองอนาคต ที่จะต้อง ปลุกสมองจินตนาการถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในอีก20 ปีภายในปี 2040 ข้างหน้า (Future Human 2040) มี 5 ด้าน คือ ความกังวลและความกลัว (Concerns & Fears), รูปแบบการทำงานในยุคถัดไป (Work), กิจกรรมและสังคม (Activities & Social Life) และสิ่งที่ทำเป็นประจำ (Routines) และความฝันของพวกเขา (Big dream)


"นี่เป็นขั้นตอนของการฝึกสมองให้ คิดนอกกรอบ ก่อนจะไปถึง Moonshot ที่ยิ่งใหญ่จึงต้องเริ่มต้นจากจินตนาการถึง โลกยุคหน้าก่อน บางธุรกิจคิดถึงเพียงตัวเอง จึงต้องฝึกคิดถึงคนยุคหน้าคิดแบบหนังไซไฟ (Sci-fi) พวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร" สิ่งเหล่านี้จะทำให้มองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับโลก


2.การระดมสมองเพื่อช่วย (Ideation Platform) คือ การออกแบบ แนวคิดธุรกิจที่โมเดลแก้ไขปัญหาให้กับโลก 20 ปีข้างหน้า


มาร์คยกตัวอย่างไอเดียของเขาที่พัฒนา "ALOHAS Eco-Center" เป็นบริษัทที่ผลิต อาหารและเครื่องดื่มที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบ 100% ที่ความฝันคือจะมีศูนย์ ALOHAS ทุกแห่งในโลก เพื่อผลิตพลังงานหมุนเวียน อาหาร และใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล เมื่อแลกเปลี่ยนกับคนอื่น อาจจะมีการต่อยอด เพิ่มโรงเรียน ระบบขนส่ง เป็นต้น "เป็นขั้นตอนระดมความคิดที่จะช่วยกัน ทำให้สังคมดีขึ้น ยิ่งคุยกับคนมากเท่าไหร่ความคิดก็จะกว้างขึ้น"


3. การออกแบบวิสัยทัศน์ พันธกิจ (Moonshot) เป็นการคิดอย่างใจกล้า ข้ามขีดจำกัด ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริง แบ่งเป็น 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.เข้าใจสถานการณ์ค้นหาเพื่อเปลี่ยนแปลง (Current Status) 2.ใครในสังคมที่จะทำให้ Moonshot กลายเป็นจริง 3.คิดชื่อ Moonshot 4.คิดถึงความเกี่ยวข้อง ทำให้สังคมดีขึ้น (Relevance) และ สัมพันธ์กับ 17 ข้อของ SDGs 5.ปัญหาและอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัด สกัดกั้นแนวคิด Moonshot (Breakthrough) 6. สิ่งที่ไม่เคย มีมาก่อนแตกต่างแนวคิดแตกต่าง จากธุรกิจทั่วไป (Surprise) 7.กำหนดเวลาเป็นจริงได้ และ 8. เครื่องมือในการวัดเป้าหมาย (Measurements) สะท้อนว่า Moonshot บรรลุเป้าหมายตามความฝัน


4.กลยุทธ์การสื่อสาร (Moonshot Story) สิ่งสำคัญที่ทำให้แนวคิด Moonshot เข้าถึง คนทั่วไปและหาแนวร่วมมาสนับสนุน ความฝัน ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนคือ 1. มองโลกในยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างวิสัยทัศน์ Moonshot ของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ในปี 1962 ที่ประกาศวิสัยทัศน์ "เราเลือกไปดวงจันทร์" เพราะเป็นการ สร้างโอกาสสร้างความร่วมมือเพื่อสันติสุข เป็นถ้อยคำที่ปลุกให้คนรู้สึกฮึกเหิม และเป็นการช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจกับสหภาพโซเวียต ในยุคสงครามเย็น เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่


2.ค้นหาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ที่จะช่วยขับเคลื่อน Moonshot คือ องค์ความรู้ใหม่ที่เพิ่มโอกาสในการเอาชนะโดยการสำรวจอวกาศโดยไม่ต้องสู้รบในสงคราม และ3.ทำไมทุกคนต้องเชื่อใน Moonshot ที่คิดค้นขึ้นมา ในยุคนั้นไม่ใช่


สิ่งที่ง่าย จึงต้องไปให้ถึง 4.ก้าวข้ามแรงต่อต้าน


Moonshot 5.ค้นหา 3 พลังอิทธิพลผลักดัน


Moonshot อย่างเช่น Moonshot ของเคเนดี้ เป็นความท้าทายที่จะต้องยอมรับไม่มีทางเลื่อนออกไป และมุ่งมั่น เป็นผู้ชนะ และสุดท้าย 6.กำหนดเวลาที่เกิดขึ้น


ฟรีเดอริเก้ รีมเมอร์ มองถึงแนวคิด Moonshot ว่า ถือเป็นการเปลี่ยนธุรกิจไปในที่ไม่เคยทำมาก่อนเพื่อความยั่งยืนและธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงต้องลืมรูปแบบธุรกิจเดิมให้หมดสิ้น เพราะไม่มีทางประสบความสำเร็จแบบใหม่ได้หากคิดแบบเดิม โดยการแบ่งภาคธุรกิจเพื่อทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อ Moonshot โดยเฉพาะหากต้องการเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลง ตลาด สิ่งสำคัญคือการแสวงหาแนวร่วมที่ไม่ใช่เพียงคนในแวดวงธุรกิจ แต่จะต้องคุยกับคนทุกกลุ่มเพื่อมองโลกได้กว้างไกลตั้งแต่ เด็ก ผู้หญิง ภาครัฐ และเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงคู่แข่งที่อาจจะค้นพบแนวคิดเพื่ออนาคตจากการพูดคุยก็เป็นได้


ปัจจุบันมาร์คและสถาบัน Futur/io ได้เริ่มขยายแนวคิด Moonshot ไปยัง ประเทศต่างๆ โดยเริ่มต้นจากยุโรป และขยายมาสู่เอเชีย เป็นเวลา 2-3 ปี อาทิ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี เกาหลี จีนและไทย เป็นต้น โดยรวมมีการเผยแพร่ไปแล้วกว่า 32 ประเทศ ในปี 2562 และ จะมีแผนจะขยายไป 48 ประเทศในปี 2563 เขากำลังเข้าไปมีส่วนร่วมเวิร์คช็อปนำ Moonshot เข้าไปช่วยวางแผนโรดแมปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกอนาคตปี 2050 ให้กับ UN โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์กร ต่างๆ 200 คน บนเป้าหมายที่จะกู้วิกฤติและฟื้นฟูโลกใบนี้ให้น่าอยู่



วิกฤติโลกซับซ้อนจาก เศรษฐกิจทุนนิยมเดินผิดทาง ผ่าแนวคิด UN รุกใช้โมเดล Moonshot คิดข้ามโลก ดันโลกอุดมคติ สู่ ความเป็นจริง ดับวิกฤติ สร้าง 'โลก'-'ธุรกิจ' สมดุล โตยั่งยืน ปี 2030


"หากคนอยู่ในสังคมที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างสมดุลธุรกิจจะเติบโตได้ อย่างยั่งยืน เพราะมีการบริโภค การผลิตที่ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรบนโลก'


Moonshot Thinking คือการสร้างเป้าหมายมองอนาคต ระดมแนวคิดจาก คนหลากหลาย ที่ไม่ใช่เพื่อตัวเอง หรือคนยุคปัจจุบัน แต่มองโอกาส อีก 10-20 ปี ที่ธุรกิจจะสร้างประโยชน์ต่อสังคม และคนรุ่นถัดไป


บรรยายใต้ภาพ

มาร์ค บัคลี่ย์



กรุงเทพธุรกิจ | 6 ต.ค. 2562

ดู 156 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page