ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center
เวลา และสถานที่
จะกำหนดวันเวลาภายหลัง
จะกำหนดสถานที่ภายหลัง
ข้อมูล
ภาพรวมผลการจัดอันดับระดับโลก
ในปี 2567 IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก* โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ณ ไตรมาสแรก ปี 2567 และข้อมูลเชิงประจักษ์ (Hard data) ปี 2567 ซึ่งยังคงจัดอันดับโดยประเมินเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และ 4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
ภาพรวมของผลการจัดอันดับในปี 2567 นี้ พบว่าเขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงได้ในอนาคต จะต้องมีศักยภาพในการคาดการณ์และปรับตัวได้เร็วในโลกที่มีบริบทของการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับสร้างมูลค่าและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนได้ ซึ่งจะส่งผลให้เขตเศรษฐกิจสามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (Sustainable) อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักของโลกในปีนี้และอนาคต คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-carbon) และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) การให้ความสำคัญและส่งเสริมความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) ในเศรษฐกิจโลก รวมถึงการทำ Digital Transformation
ทั้งนี้ 3 แนวโน้มสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในปี 2567 จากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร (Executive Opinion Survey – EOS) ได้แก่ การนำ AI มาใช้ (AI adoption) ร้อยละ 55.1 ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (The risk of a global economic slowdown) ร้อยละ 52 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical conflicts) ร้อยละ 36.1 แต่ความท้าทายขององค์กรปัจจุบัน คือ จะทำอย่างไรที่จะสามารถนำระบบ AI มาใช้อย่างถูกต้องในการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรได้ โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และผลผลิตขององค์กร ยิ่งไปกว่านั้น คือการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environment risks) ที่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน แต่ผลสำรวจกลับอยู่ในอันดับท้าย ๆ
ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2567 สิงคโปร์สามารถกลับมาเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงสุด จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก จากความแข็งแกร่งของภาคเอกชนและภาครัฐ ในปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 2 ในปีนี้ ขยับขึ้นมาเล็กน้อย 1 อันดับจากปีที่แล้ว จากการพัฒนาด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) รวมถึงการที่ยังคงสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันสูงสุดในด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) อันดับ 3 เดนมาร์ก ร่วงลงเล็กน้อย 2 อันดับจากปีที่แล้ว สืบเนื่องจากปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่มีอันดับลดลง
นอกจากนั้น เป็นที่น่าสนใจว่า เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับสูงสุด 10 อันดับแรก ในปี 2567 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก (Smaller Economies) เช่นเดียวกับปีก่อน แสดงให้เห็นว่าขนาดของเศรษฐกิจไม่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ถึงแม้ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็กแต่ก็สามารถแข่งขันกับเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับในอันดับ 4-10 ตามลำดับ ในปี 2567 ได้แก่ อันดับ 4 ไอร์แลนด์ ซึ่งลดลงจากอันดับ 2 ในปีที่แล้ว อันดับ 5 ฮ่องกง อันดับ 6 สวีเดน ที่ต่างขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2566 อันดับ 7 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดีขึ้น 3 อันดับจากปีก่อน อันดับ 8 ไต้หวัน ที่อันดับลดลง 2 อันดับ อันดับ 9 เนเธอร์แลนด์ ลดลง 4 อันดับจากปีที่แล้ว และอันดับ 10 นอร์เวย์ ที่อันดับดีขึ้น 4 อันดับจากปีก่อน
ที่น่าสนใจคือ เขตเศรษฐกิจที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) มีการพัฒนาศักยภาพในด้านนวัตกรรม (Innovation) Digitalization และความหลากหลายในการลงทุน (Diversification)อย่างมาก จนเกือบจะเทียบเท่ากับเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว โดยจะเห็นได้ว่า เขตเศรษฐกิจ เช่น จีน อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี มีการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นผู้เล่นสำคัญในด้านการค้า (Trade) การลงทุน (Investment) นวัตกรรม (Innovation) และภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในขณะที่ มาเลเซีย (Malaysia) ไทย (Thailand) และชิลี (Chile) นั้น มีการพัฒนาเล็กน้อย ซึ่งเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ ยังคงมีโอกาสใหม่ (New opportunities) และตลาด สำหรับธุรกิจและผู้บริโภคอยู่ รวมถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย โดยหน่วยงานรัฐและธุรกิจทั่วโลกที่สนใจในตลาดเหล่านี้ ควรจะต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม (Cultural) และสภาพแวดล้อมด้านกฎหมายและสถาบัน (Institutional and regulatory environment) ของเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ โดยยังคงยึดถือไว้ซึ่งคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกและความยั่งยืน
อ่านบทวิเคราะห์เพิ่มเติม ได้ที่นี่ : Download
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ:
โดยการส่งข้อมูลส่วนบุคคลของคุณให้เราทางออนไลน์ในเว็บไซต์ของเรา คุณยินยอมให้เรายินยอมให้ใช้และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของคุณตามนโยบายนี้ หากคุณไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของนโยบายความเป็นส่วนตัวนี้ คุณต้องหยุดใช้และเข้าถึงเว็บไซต์นี้ทันที และเนื้อหา บริการ หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีอยู่ในหรือพร้อมใช้งานจากเว็บไซต์นี้ ซึ่งคุณจำเป็นต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคล
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย
276 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ. รามคำแหง แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310 ติดต่อ +662-319-7677 / +662-718-5601