top of page

พัฒนาอย่างยั่งยืน 'บ้านหินลาดใน' ตัวอย่างสร้างธุรกิจไม่กระทบสิ่งแวดล้อม



เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเสวนาร่วมกันโดยสมาคมการจัดการธุรกิจ แห่งประเทศไทย (TMA) และกระทรวงการต่างประเทศ เปิด เวทีสัมมนา Global Business Dialogue ภายใต้คอนเซ็ปต์ Sustainable Development Goals ที่วางเป้าหมายทั้งหมด 17 เป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน


นายวิสิฐ ตันติสุนทร ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เผยว่า การทำธุรกิจหรือการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบัน จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ แต่ประเด็นสำคัญที่ทุกองค์กรต้องคำนึงถึง คือ จะพัฒนาธุรกิจอย่างไรให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยองค์การสหประชาชาติได้มีการมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยึดถือเป็นแนวทางสำหรับประชาคมของโลกในการขับเคลื่อนให้โลกไปสู่ความยั่งยืน


ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของเป้าหมายการพัฒนา อย่างยั่งยืน 17 เป้าหมาย ตามแผนยุทธศาสตร์ Sustainable development Goals (SDGs) ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเตรียมแผนงานสำหรับขับเคลื่อนการพัฒ นาอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงการต่างประเทศได้มีบทบาทในฐานะคณะจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการความยั่งยืนของสหประชาชาติ


"ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดำเนินเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมานานแล้ว คือ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมาช่วยในการบริหารงานของประเทศ นอกจากนี้ยังนำไปเผยแพร่ต่อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่ม 77 ของยูเอ็นอีกด้วย ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นหลักการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสอดรับกับแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของยูเอ็น" นายดอนกล่าว


โดยทั้ง 17 เป้าหมายที่วางแผนดำเนินการในการพัฒนาในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งในแผนการพัฒนาทั้ง 17 เป้าหมาย มีความสอดคล้องกับการนำมาปรับใช้กับชุมชนหรือประชาชนในประเทศไทย ในเรื่องของเป้าหมาย 1.การขจัดความยากจนของประชาชน 2.การ ยุติความหิวโหย ส่งเสริมเกษตรกรรมสำหรับประชาชนได้มีธุรกิจขนาดเล็ก 3.การเข้าถึงในด้านสิทธิประโยชน์ที่จะต้องได้รับอย่างเท่าเทียม 4.การศึกษาที่ทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียม 5.ความเสมอภาคทางเพศ 6.การจัดการน้ำและสุขอนามัย 7.การเข้าถึงแหล่งพลังงานใหม่8.ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ 9.การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม 10.ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในและต่างประเทศ 11.การตั้งถิ่นฐาน มีความปลอดภัย 12.การบริโภคและผลิตอย่างยั่งยืน 13.ดำเนิน การแก้ปัญหาโลกร้อน 14.ใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน 15.ระบบนิเวศบนบกที่ยั่งยืน 16.เข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และ 17.ความร่วมมือระดับสากลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องผลักดันเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม


ในเวทีการเสวนาครั้งนี้ ได้พูดถึงการทำธุรกิจของชาวเขาปกากะญอ และการดูแลรักษาป่าของชาวเขาบ้านหินลาดใน จ.เชียงราย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการขจัดความหิวโหย ส่งเสริมการเกษตร ซึ่งชาวเขาเหล่านี้สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กได้ และชาวเขาที่บ้านหินลาดในที่ดำรงชีวิตแบบวิถีพอเพียง เลือกรับในสิ่งที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแท้จริง


นายปรีชา ศิริ ชาวเขาปกากะญอ ผู้แทนแห่งบ้านหินลาดใน จ.เชียงราย ที่ได้รับรางวัลวีรบุรุษรักษาป่า (Forest Hero) ในการประชุมอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 10 ปี 2556 กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านห้วยหินลาดใน ได้ถือคติ "ได้กินจากน้ำ ต้องรักษาน้ำ ได้กินจากป่า ต้องรักษาป่า" มาตลอด เพราะชาวเขาต้องอาศัยป่า และก็ต้องดูแลป่าที่อาศัยด้วยเช่นกัน


"ชาวบ้านห้วยหินลาดในใช้ชีวิตอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง ไม่พึ่งพาบุคคลด้านนอกมากจนเกินไป เพราะบางอย่างที่นำมาจากภายนอกอาจจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น การนำโครงการต่างๆ ที่เป็นการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ แต่ในทางกลับกันที่ดิน ป่าก็ต้องถูกทำลายเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเพียงชนิดเดียว ดังนั้น หากเลือกได้ ก็จะเลือกรักษาป่า เพราะเรายังต้องอาศัยไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน" ปรีชากล่าว


ด้านนายชัยธวัช จอมติ ผู้นำและแบบอย่างของชุมชนชาวเขาพื้นเมืองในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ บ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กล่าวว่า บ้านหินลาดในนั้นอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ของป่าดิบเขาผสมป่าเต็งรัง เมื่อก่อนยังเคยถูกสัมปทานซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งให้ป่าถูกบุกรุกจากผู้ที่ต้องการหาผลประโยชน์จากป่า ต้นไม้ใหญ่ สัตว์ป่า เริ่มไม่มีให้พบเห็น แต่กว่า 20 ปี ป่าแห่งนี้ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้งแม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์


ชัยธวัช กล่าวอีกว่า จากความร่วมมือของชาวบ้านที่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาป่า ในพื้นที่ป่ากว่า 30,000 ไร่ โดยบ้านหินลาดในมีพื้นที่อาศัย ทำกิน รวมถึงพื้นที่สาธารณะ ประมาณ 1,800 ไร่ ในการทำเกษตรกรรมไร่หมุนเวียน ปลูกพืชแบบผสมผสาน และยึดหลักการปลูก 1 ปี ฟื้นฟู 7 ปี เพื่อให้ดินได้ปรับสภาพและคืนความสมบูรณ์สู่ป่า ซึ่งพืชส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านหินลาดในเลือกปลูก เป็นพืชที่ยืนต้นที่ให้ผลในระยะยาวได้ อย่าง ชา กาแฟ หน่อไม้ พืชผักสวนครัว และยังเลี้ยงผึ้งธรรมชาติได้อีกด้วย

ธวัชชัยที่ไม่ปฏิเสธว่ายุคสมัยที่เป็นธุรกิจ เงินเป็นปัจจัยสำคัญมากขึ้น ชาวบ้านหินลาดในปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องทำการปรับตัว ส่งเสริมด้านการศึกษาแก่เยาวชนเพื่อในอนาคตได้นำกลับมาทำประโยชน์แก่บ้านหินลาดใน นอกจากนี้ชาวบ้านเริ่มหันมาสนใจในการลงทุนทำธุรกิจที่สามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัว จึงได้เชื่อมโยงสู่เครือข่ายธุรกิจด้านวัตถุดิบในการทำอาหาร โดยมีเชฟได้เข้ามาศึกษาดูงานนำวัตถุดิบที่สามารถหาได้ในพื้นที่ ส่งเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร รวมถึงชาวบ้านได้มีการดัดแปลงชา กาแฟ น้ำผึ้ง เป็นผลิตภัณฑ์ จัดจำหน่ายและนำรายได้คืนสู่ชุมชน และใช้ในการดูแลรักษาป่าอีกด้วย


"แม้ว่าความเจริญจะถูกส่งเข้ามาภายในบ้านหินลาดในมากเพียงไร แต่ผมก็ยังขอดำเนินชีวิตแบบพอเพียง พอมี พอกิน ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากจนเกินควร เพราะบางครั้งความเจริญที่ต้องการต้องแลกกับบางอย่าง ซึ่งแต่ละชุมชนสามารถเลือกได้ ระหว่างความยั่งยืนหรือระยะเวลาความเจริญเพียงชั่วครั้งชั่วคราว" ชัยธวัชกล่าวทิ้งท้าย


ทั้งนี้ ชุมชนบ้านหินลาดในเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การวางเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการนำมาพัฒนา เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบัน เพื่อผลประโยชน์ในอนาคตของคนรุ่นต่อไป.




ดู 57 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page