คอลัมน์ ทันประเด็น: ไทยขยับขีดความสามารถการแข่งขัน
โดย : กะบังลม
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผล จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2560 ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 63 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผลสำรวจฯ ในปี 2560 ฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์ยังคงครองอันดับที่ 1 และ 2 เช่นเดียว กับปีที่ผ่านมา ในขณะที่สิงคโปร์เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ทำให้สหรัฐอเมริกาตกไปเป็นอันดับที่ 4
ในปี 2560 ผลการจัดอันดับของ ไทยดีขึ้นทั้งโดยคะแนนและอันดับ โดยคะแนนภาพรวมในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 80.095 เปรียบเทียบกับ 74.681 ในปี 2559 และมีอันดับเลื่อนขึ้นจาก 28 ในปี 2559 เป็น 27 ในปี 2560 ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการจัดอันดับนี้ ซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแล้ว ไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซียโดยไทย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีอันดับดีขึ้น ในขณะที่มาเลเซียมีอันดับ ลดต่ำลง
เมื่อพิจารณาคะแนนที่ประเทศไทยได้รับ ในระยะตั้งแต่ปี 2556-2560 จะเห็นได้ว่ามีคะแนนสูงขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2557 เป็น ต้นมา และเริ่มมีแนวโน้มสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของทุกประเทศที่ได้รับการจัดอันดับตั้งแต่ปี 2558 โดยในปี 2560
ประเทศไทยมีคะแนน 80.095 ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยของ 63 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเท่ากับ 77.033 อันแสดงให้เห็นว่าความ พยายามของรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้เริ่มส่งผล ซึ่งหากมีการเร่งดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะทำให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถที่สูงขึ้นจนเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำได้อย่างแน่นอน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า "การที่ผลการจัดอันดับในปีนี้ดีขึ้นทั้งคะแนนและอันดับ โดยเป็นปีแรกที่มีคะแนนรวมเกินกว่า 80 คะแนนและสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยรวมของทุกประเทศ เป็นการยืนยันว่าการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นสิ่งที่ทั้งรัฐและเอกชนต้อง มีจุดหมายร่วมกันและลงมือขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันผลักดันและสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญๆ ที่เป็นฐานสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวไปหลายเรื่อง ผลการจัดอันดับ ทำให้เห็นว่าเรามาถูกทางแล้วและจะต้องพยายามร่วมมือกันต่อไป"
ในการจัดอันดับฯ ของ IMD มีการ พิจารณา 4 ด้าน คือ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ปรากฏว่า ปัจจัยที่ ไทยมีอันดับดีที่สุดคือ สภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 63 ประเทศ โดยมีอันดับดีขึ้นถึง 3 อันดับจากปี 2559 ในขณะที่ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับดีขึ้น 3 อันดับเช่นเดียวกัน ทำให้อยู่ในอันดับที่ 20 ในปีนี้ ส่วนปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานมีอันดับคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีอันดับที่ 25 และ 49 ตามลำดับในปี 2560
"กะบังลม" เห็นการจัดอันดับแล้วจะเห็นได้ว่าศักยภาพและ สมรรถนะทางเศรษฐกิจของรัฐเริ่มขยับตัวขึ้น ส่อให้เห็นถึง เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น นักธุรกิจมีความเชื่อมั่นในการให้บริการภาครัฐ รวมทั้งภาครัฐและเอกชนมีความเข้าใจและการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เริ่มปรากฏผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในภาครัฐ ซึ่งสอดคล้อง กับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ IMD ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเทศ ที่มีพัฒนาการสูงขึ้นมากในปีนี้ว่า ล้วนเป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพของภาครัฐและภาคเอกชน และการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ.
Comments