top of page

'กูรู' ชี้โลกกำลังก้าวสู่ Internet of Action


'กูรู' ชี้โลกกำลังก้าวสู่ Internet of Action


ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทุกองค์กรต่างเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำองค์กรจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของ ตัวเองในอนาคต เพื่อฉวยจังหวะ Digital Disruption ให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ พร้อมที่จะแข่งขันในอนาคต

ทั้งนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ได้ร่วมจัดงาน Digital Transformation Forum 2019 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ "Surfing the Waves in Digital Transformation Era" โดยมุ่งหวังให้นำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปพัฒนาต่อยอดเชิงเทคโนโลยี นวัตกรรม และแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศ

Mr. Bradley Kreit Director, Future 50 Research ผู้เชี่ยวชาญ หรือ "กูรู" จากสถาบันเพื่ออนาคต (Future 50 ResearchIFTF) ที่ตั้งอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในอนาคตโลกเรากำลังก้าวไปสู่ Internet of Action จากปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคแห่งการหาข้อมูล หรือบริการทางด้านข้อมูลเท่านั้น แต่จากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้น มนุษย์สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาทำให้เกิดการกระทำปลายเปิด (Action) ยกตัวอย่างรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งสามารถเคลื่อนตัวได้จากการกดปุ่มเล็ก ๆ เพียงปุ่มเดียว หรือการที่ อเมซอน (Amazon) ผลิตอุปกรณ์ที่สามารถให้ผู้ใช้งานกดปุ่มสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ หรือทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ได้เพียงกดปุ่มเดียวครั้งเดียวเท่านั้น

"เทคโนโลยีในอนาคตสามารถนำความซ้ำซ้อนต่าง ๆ ให้สามารถสั่งการได้เพียงปุ่มเดียวครั้งเดียว และในอนาคตเราจะได้เห็นอุปกรณ์ที่อัจฉริยะมากขึ้น คิดและตัดสินใจได้เอง เพียงอาศัยข้อมูลผู้ใช้งานมาวิเคราะห์โดยไม่มีใครสั่งการ อย่างในสหรัฐอเมริกามีแอพพลิเคชั่น Trim ที่ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาดูแลการต่อสัญญากับผู้ให้บริการเคเบิลได้เอง โดยที่เจ้าของไม่ต้องเสียเวลาโทรฯ ไปต่อสัญญาเอง เพราะแอพพลิเคชั่นนี้จะตัดสินใจแทนผู้ใช้จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งาน เป็นต้น"

Mr.Bradley กล่าวต่อว่า องค์กร ต่าง ๆ ต้องมองหาคุณค่าให้เจอเพื่อให้เทคโนโลยีเข้าไปตอบโจทย์ โดยมียุทธศาสตร์การทำงาน ดังนี้ ปรับเปลี่ยนการรับรู้ของมนุษย์ โดยใช้เทคโนโลยีทำให้มนุษย์มีปฏิกิริยา (Action) กับโลกที่เปลี่ยนไป เช่น แว่นตา AR ที่ทำให้สภาพความเป็นจริงเปลี่ยน ด้วยการใช้โฮโลแกรมสร้างแคมเปญทางการตลาด หรือการนำเทคโนโลยีเสมือนจริงให้คนมองเห็นร่างอวตารของตนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น

นำนวัตกรรมมาสร้างคุณค่าให้กับชีวิตของผู้บริโภค เช่น HapiFork ผลิตช้อนสำหรับกลุ่มที่ต้องการควบคุมอาหาร โดยช้อนจะสั่นเมื่อผู้ใช้กำลังรับประทานอาหารเร็วเกินไป หรือ Lift ware ช้อนที่เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน นับเป็นการนำนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหาการดำเนินชีวิตได้อย่างแท้จริง

เข้าถึงรหัสพฤติกรรมมนุษย์ โดยนำข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานในการประมวลผลความต้องการในอนาคต โดยไม่ต้องป้อนคำสั่ง เช่น Glow cap ขวดยาที่นอกจากสามารถตรวจวัดดัชนีสุขภาพได้แล้วยังเตือนเวลารับประทานยา และเก็บข้อมูลสุขภาพได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย องค์กรจะมีวิธีเลือกใช้ และเริ่มต้น Digital Transformation อย่างไรนั้น

ทาง ดร.ฤตวีร์ มาตังคะ Project Leader, The Boston Consulting Group กล่าวว่า 4 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ได้แก่ AI, Blockchain, IoT และ Augmented/ Virtual Reality ที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต และควรเริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรที่จะต้องวางทิศทางที่จะเดินไปในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยมองตำแหน่งทางดิจิทัลขององค์กรว่าจะอยู่จุดไหน เพื่อที่ได้รู้ว่าจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลอะไรมาซัพพอร์ตได้บ้าง

"คีย์สำคัญที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จจาก Digital Transformation คือ ใช้คุณค่าเป็นตัวนำในการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เทคโนโลยี นั่นหมายถึงองค์กรจะต้องเข้าใจธุรกิจหลัก หรือ Core Business ของตนว่าคืออะไร หาปัญหาที่แท้จริง เพื่อแสวง หาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาตอบโจทย์ ทั้งในแง่เป็นช่องทางธุรกิจใหม่ ๆ หรือพัฒนากระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และควรผสมผสานเทคโนโลยีที่หลากหลายให้เกิดประโยชน์สูงสุด"

นั่นหมายถึงการที่องค์กรต่าง ๆ จะต้องหาวิธีการในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ร่วมกัน ไม่ควรโฟกัสไปที่เทคโนโลยีตัวใดตัวหนึ่ง เพราะแต่ละเทคโนโลยีมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

ดังนั้นการมองไปยังอนาคตเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และเติบโตได้อย่างแท้จริง องค์กรจะต้องคิดอย่างเป็นระบบ เตรียมพร้อมที่จะหาส่วนผสมทางเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ทำให้เกิดคุณค่า รวมถึงหาจุดสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีให้เป็นระบบอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว หรือให้มนุษย์ควบคุมเทคโนโลยี

โดยคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานด้วย.



ดร.ฤตวีร์ มาตังคะ



ดร.ฤตวีร์ มาตังคะ



บรรยายใต้ภาพ

Mr.Bradley Kreit

ดร.ฤตวีร์ มาตังคะ

--จบ--


--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 พ.ค. 2562 (กรอบบ่าย)--

ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page