top of page

'กูรู ซิลิคอนวัลเลย์'มองอนาคต เทคโนโลยีพลิกชีวิต



'กูรู ซิลิคอนวัลเลย์'มองอนาคต เทคโนโลยีพลิกชีวิต

กรุงเทพธุรกิจ ท่ามกลางพายุเทคโนโลยีที่โหมซัดอย่างรุนแรง ทุกองค์กรต่างเผชิญความท้าทายใหม่ๆ สร้างความกดดันให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกต้องลุกขึ้นมาหาแนวป้องกัน และเผชิญความท้าทายให้ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำองค์กรต้องกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของตัวเองในอนาคต ฉวยจังหวะ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ

แบรดเลย์ คริท ผู้อำนวยการ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเพื่ออนาคต หรือ Future 50 Research ตั้งอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐ เผยถึงประเด็นการมองอนาคตของเทคโนโลยี (Digital Foresight) เพื่อนำมา วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างคุณค่าชีวิต และเพิ่มโอกาส ทางธุรกิจ ในงาน Digital Transformation Forum 2019 ขึ้นภายใต้หัวข้อ "Surfing the Waves in Digital Transformation Era" ที่จัดขึ้นโดยสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ร่วมจัดงาน โดยระบุว่า อนาคตโลกกำลังก้าวไปสู่ อินเทอร์เน็ต ออฟ แอคชั่น (Internet of Action) จากปัจจุบันอยู่ในยุคการหาข้อมูล หรือบริการทางด้านข้อมูลเท่านั้น แต่จากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย มากขึ้น มนุษย์สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาทำให้เกิดการกระทำปลายเปิด (Action)

เทคฯต้องตอบโจทย์-สร้างคุณค่าชีวิต

ยกตัวอย่าง รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งสามารถเคลื่อนตัวได้จากการกดปุ่มเล็กๆ เพียงปุ่มเดียว หรือการที่อะเมซอน ผลิตอุปกรณ์ ที่สามารถให้ผู้ใช้งานกดปุ่มสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ หรือทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ได้ เพียงกดปุ่มเดียวครั้งเดียวเท่านั้น ตัวอย่างเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีในอนาคตสามารถนำความซ้ำซ้อนต่างๆ ให้สามารถสั่งการ ได้เพียงปุ่มเดียวครั้งเดียว และอนาคตจะได้เห็นอุปกรณ์ที่อัจฉริยะมากขึ้น คิดและตัดสินใจได้เอง เพียงอาศัยข้อมูลผู้ใช้งานมาวิเคราะห์ โดยไม่มีใครสั่งการ

"ในสหรัฐอเมริกามีแอพพลิเคชั่น Trim ที่ใช้เทคโนโลยีเอไอเข้ามาดูแลการต่อสัญญากับผู้ให้บริการเคเบิลได้เอง โดยที่เจ้าของไม่ต้องเสียเวลาโทรไปต่อสัญญาเอง เพราะแอพพลิเคชั่นนี้จะตัดสินใจ แทนผู้ใช้จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งาน นี่เป็นตัวอย่าง"

แบรดเลย์ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายโดยเฉพาะด้าน เฮลธ์ เทคโนโลยี และมีผลงานด้านวิจัยมากมาย เช่น ฟู๊ด เทค เฮลธ์แคร์ อินโนเวชั่น ฯลฯ แนะนำว่า องค์กรต้องมองหาคุณค่าให้เจอ เพื่อให้เทคโนโลยีเข้าไปตอบโจทย์ โดยมียุทธศาสตร์การทำงาน เช่น ปรับเปลี่ยนการรับรู้ของมนุษย์ โดยใช้เทคโนโลยีทำให้มนุษย์มีปฏิกิริยา (Action) กับโลกที่เปลี่ยนไป เช่น แว่นตาเออาร์ (AR) ที่ทำให้สภาพความเป็นจริงเปลี่ยน ด้วยการใช้โฮโลแกรมสร้างแคมเปญทางการตลาด หรือการนำเทคโนโลยีเสมือนจริง ให้คนมองเห็นร่างอวตารของตัวเอง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น

ควรดึงนวัตกรรมมาสร้างคุณค่าให้ชีวิตของผู้บริโภค เช่น HapiFork ผลิตช้อนสำหรับกลุ่มที่ต้องการควบคุมอาหาร ช้อนจะสั่นเมื่อผู้ใช้กำลังรับประทานอาหารเร็วเกินไป หรือ Lift ware ช้อนที่เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน นับเป็นนำนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหาการดำเนินชีวิตได้อย่างแท้จริง

รวมถึง การเข้าถึงรหัสพฤติกรรมมนุษย์ โดยนำข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานในการประมวลผลความต้องการในอนาคต โดยไม่ต้องป้อนคำสั่ง เช่น Glow cap ขวดยาที่นอกจากสามารถตรวจวัดดัชนีสุขภาพได้แล้วยังเตือนเวลารับประทานยา และเก็บข้อมูลสุขภาพได้ด้วย

JustCo ยกเคสมุ่งทำระบบนิเวศน์ดิจิทัล

ด้าน กง วาน หลง ผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าเจ้าหน้าที่การพาณิชย์ JustCo สตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์ ผู้ประสบความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในธุรกิจ จนก้าวสู่การเป็นผู้นำผู้ให้บริการโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นโค-เวิร์คกิ้ง สเปซที่รองรับกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ นักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ และองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในไทย เป็นหนึ่งในกูรูที่ได้ร่วมแบ่งประสบการณ์ จากจุดเริ่มต้นธุรกิจเมื่อ ปี 2554 ให้บริการเช่าพื้นที่สำนักงาน จนมาถึงจุดเปลี่ยนปี 2558 เขามองเห็นความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีที่จะมาเข้ามาสร้าง เอฟ เคิร์ฟ ให้กับธุรกิจ JustCo โดยปัจจุบันให้บริการโค-เวิร์คกิ้ง สเปซกว่า 40 แห่งทั่วโลก

"หลังมองเห็นรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป จึงเริ่มลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อทำความเข้าใจในพฤติกรรมลูกค้าให้มากขึ้น ตั้งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าที่มีอาชีพทางด้านดิจิทัล ทำให้เรากลับมาเปลี่ยน เลย์ เอ้าท์ พื้นที่ให้เช่าใหม่ให้เป็นสมาร์ท สเปซ พร้อมสร้างแม่เหล็กต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้ากลับมาใช้ซ้ำ ด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ทางดิจิทัล พร้อมออกแอพพลิเคชั่น Justco เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าในฟังก์ชัน ของห้องประชุมล่วงหน้า เช็ค Hot Desk ที่สามารถใช้งานได้ เข้าถึงอีเวนท์ที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ รวมถึงสร้างออฟฟิศเสมือนผ่านดิจิทัล เพย์เม้นท์ เกตเวย์ ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน และลดการจ้างงานของบริษัทลง" ผู้บริหาร JustCo อธิบาย หนึ่งในคำถามที่ถูกถามมากที่สุด คือ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่มากมาย องค์กรจะมีวิธีเลือกใช้ และเริ่มต้นดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นอย่างไร

นายฤตวีร์ มาตังคะ หัวหน้าโครงการ, บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป แนะนำ 4 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ได้แก่ เอไอ บล็อกเชน ไอโอที และอ็อกเมนเต็ด และเวอร์ช่วล เรียลริตี้ (Augmented/Virtual Reality) ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต และควรเริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรที่ต้องวางทิศทางเดินใน อีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยมองตำแหน่งทางดิจิทัลขององค์กรว่า จะอยู่จุดไหน เพื่อจะได้รู้ว่าจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลอะไรมา สนับสนุนได้บ้าง

องค์กรต้องเข้าใจ'คอร์ บิซิเนส'

"คีย์สำคัญที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จจากดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น คือ ใช้คุณค่าเป็นตัวนำในการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เทคโนโลยี นั่นหมายถึงองค์กรต้องเข้าใจคอร์ บิซิเนส ของตัวเองว่า คืออะไร หาปัญหาที่แท้จริง เพื่อแสวงหาเทคโนโลยี ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ ทั้งในแง่เป็น ช่องทางธุรกิจใหม่ๆ หรือพัฒนากระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และควรผสมผสานเทคโนโลยีที่หลากหลายให้เกิดประโยชน์สูงสุด"

หมายถึงองค์กรต่างๆ ต้องหาวิธีนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ร่วมกัน ไม่ควรโฟกัสไปที่เทคโนโลยีตัวใดตัวหนึ่ง เพราะแต่ละเทคโนโลยีมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ดังนั้นการมองไปยังอนาคตเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และเติบโตได้อย่างแท้จริง องค์กรจะต้องคิดอย่างเป็นระบบ เตรียมพร้อมที่จะหาส่วนผสมทางเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดคุณค่า รวมถึง หาจุดสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีให้เป็นระบบอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว หรือให้มนุษย์ควบคุมเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัย และความเป็น ส่วนตัวของผู้ใช้งานด้วย

ควรดึงนวัตกรรม มาสร้างคุณค่าให้ชีวิตของผู้บริโภค

แบรดเลย์ คริท

การมองไปยังอนาคตเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้อย่างแท้จริง องค์กรต้องคิดอย่างเป็นระบบ

ฤตวีร์ มาตังคะ

กรุงเทพธุรกิจ | 3 พ.ค. 2562 | หน้า 12

ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page