top of page

ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม จุดเปลี่ยนสู่'สมาร์ท ลิฟวิ่ง'



ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม จุดเปลี่ยนสู่'สมาร์ท ลิฟวิ่ง' กรุงเทพธุรกิจ กูรูดิจิทัลฟังธงโลกเข้าสู่ยุคหลังดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น หลายองค์กรชั้นนำ รวมถึงเทคคอมพานีทรานส์ฟอร์มองค์กร รับโจทย์ใหม่ของโลกธุรกิจที่มีแต่ความท้าทาย อานิสงส์ของการทรานส์ฟอร์มในหลายๆ องค์กร การลงทุนด้านนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสารอัจฉริยะอย่าง 5จี ส่งผลให้การดำเนินชีวิตมีความสมาร์ท (Smart Living) รวมไปถึง ภาพรวมของสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

หัวเว่ย เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เผยให้เห็นถึงเส้นทางการนำพาองค์กรไปสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยมุ่งหน้าไปสู่ธุรกิจสมาร์ท ลิฟวิ่ง ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยอาศัยการปรับองค์กรครั้งใหญ่

นายกิติพงษ์ ธาราศิริกุล หัวหน้า คณะเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี หัวเว่ย เทคโนโลยี กล่าวภายในงานสัมมนา "Surfing the Waves in Digital Transformation Era" ที่จัดขึ้นโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หัวเว่ยเริ่มทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ตั้งแต่ปี 2557 ใน 3 ด้านด้วยกัน คือ กำหนดยุทธศาสตร์ กระบวนการทำงาน และการกำหนดเทคโนโลยี

ส่องเคสทรานฟอร์ม'หัวเว่ย'

ด้านกำหนดยุทธศาสตร์ ได้ปรับปรุงความพอใจของลูกค้า ปรับทัศนคติเพื่อสร้างพลังให้พนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเชื่อมโยงการทำงานทุกอย่างทุกแผนกไว้บนคลาวด์ ส่วนกระบวนการทำงานใช้แนวคิด ROADS เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว ประกอบด้วย Real time ทำงานแบบเรียลไทม์ , On Demand ด้วยการดึงข้อมูลมาใช้, All online กำหนดให้ทุกคนต้องออนไลน์ , Do it yourself สร้างทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และ Social ช่องทางแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ส่วนการกำหนดเทคโนโลยี รู้เป้าหมายว่าใช้เทคโนโลยีเพื่ออะไร

ทั้งนี้ หัวเว่ยใช้ประโยชน์จากดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ในการทำ 5 โปรเจคด้วยกัน ได้แก่ 1. อาร์แอนด์ดี แก้ปัญหาการทำงานแบบไซโลด้วยการทำงานแบบ Agile 2.รวมศูนย์ข้อมูลของโรงงานผลิตที่กระจายอยู่ทั่วโลก เพื่อให้เห็นภาพการทำงานและแก้ปัญหาได้แบบเรียลไทม์

3.แผนกโลจิสติกส์ ใช้อุปกรณ์ ไอโอทีในทุกซัพพลายเชนเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้า 4.Connected Huawei พัฒนาแอพพลิเคชั่น We Link ภายในบริษัทให้พนักงานประชุมผ่านแอพ ใช้จ่ายผ่านแอพ และเพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้วย e-Learning และ 5.Smart Campus ออกแบบแพลตฟอร์มข้อมูลวิเคราะห์ อัตราการใช้พลังงานภายในสถานที่ทำงาน เป็นต้น โปรเจคหลังนี้ เป็นการแบบจำลองของสมาร์ท ลิฟวิ่ง ที่หัวเว่ยมีการนำเทคโนโลยีที่หลากหลายมาใช้ในการขับเคลื่อน เมืองอัจฉริยะ

"สมาร์ท ลิฟวิ่ง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีหลากหลายมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็น เอไอ, ไอโอที และคลาวด์ ปัจจุบันโลกเรายังอยู่ในยุค 4จี ดังนั้นจึงเป็นช่วงที่เน้นให้คนเป็นฝ่ายเชื่อมโยงเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุค 5จี อย่างเต็มตัวเมื่อนั้นจะเป็น Game Changer ให้กับสมาร์ท ลิฟวิ่ง ทันที เพราะเทคโนโลยี 5จี จะส่งข้อมูลได้เร็วกว่า มากกว่า และหนาแน่นกว่า 4จี หลายร้อยเท่า มีบทบาททำให้เทคโนโลยีต่างๆ เกิดการเชื่อมโยงกันได้อย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้อุปกรณ์ต่างๆ สื่อสารกันเองได้อย่างเป็นอิสระ" นายกิติพงษ์ กล่าว

นายแวน ทัง หัวหน้าฝ่าย Urban Solutions, APAC-Social Innovation ฮิตาชิ คอนซัลติ้ง กล่าวถึง การทำงานของ ฮิตาชิในด้านสมาร์ท ลิฟวิ่งว่า มีการนาเทคโนโลยีหลายอย่างมาใช้ด้วยกัน โดย ทำงานร่วมกับโวดาโฟนในโปรเจค Digital Train ให้กับ UK Rail ประเทศอังกฤษโดยได้ติดเซ็นเซอร์ตามจุดต่างๆ ของรถไฟ ส่งข้อมูลไปยังคลาวด์เชื่อมกับไอโอที เพื่อให้รถไฟขับเคลื่อนอย่างปลอดภัย อุปกรณ์สามารถแจ้งเตือนการซ่อมได้เองโดยอัตโนมัติ ช่วยลดขั้นตอน และระยะเวลาการซ่อม ซึ่งความเชื่อมโยงในการทำงานระหว่างเทคโนโลยีต่างๆ ดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และโรงงานผลิตได้ด้วย

สมาร์ทลิฟวิ่งหนุนสังคม-สวล.ดีขึ้น

นายทัง กล่าวว่า สมาร์ท ลิฟวิ่งเป็น เรื่องน่าตื่นเต้นและเอื้อประโยชน์ใน หลายๆ ด้าน ยกตัวอย่าง หน่วยงาน ภาครัฐสามารถเก็บภาษีเข้าเมืองได้จาก รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือการมีสมาร์ท มิเตอร์วัดปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในบ้าน หรือโรงงาน โดยไม่ต้องใช้คนจดมิเตอร์ตามบ้านอีกต่อไป

"เป็นโอกาสให้เราได้คิดบิซิเนสโมเดลใหม่ๆ เช่น ให้สิทธิประโยชน์กับคนที่ใช้ไฟฟ้าน้อย เพื่อจูงใจให้เกิดการ เปลี่ยนพฤติกรรมใช้ไฟอย่างรู้คุณค่า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีสมาร์ท ลิฟวิ่งไม่ได้ ให้แค่การลดต้นทุนด้านการเงินอย่างเดียว แต่สังคม และสิ่งแวดล้อมยังได้ประโยชน์ด้วย"

ขณะที่ นายสุพิทัศน์ ส่งศิริ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ชินาทรัพย์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หลายแห่งเริ่มมีการเชื่อมโยงข้อมูล ผู้ป่วยในโรงพยาบาลแต่ละแห่งมารวมกันโดยใช้ดาต้า อนาไลติค เข้ามาประมวลผลอาการเจ็บป่วยเพื่อคาดการณ์อุบัติการณ์ของโรคที่จะเกิดขึ้นกับคนในชุมชนได้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และยารักษาโรคได้ทันท่วงที เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีกำลังถูกนำมาปรับใช้ในทุกอุตสาหกรรม

เมื่อโลกเข้าสู่ยุค 5จี อย่างเต็มตัวเมื่อนั้นจะเป็น Game Changer ให้กับสมาร์ท ลิฟวิ่งทันที หัวเว่ย กรุงเทพธุรกิจ | 14 พ.ค. 2562 | หน้า 10


ดู 34 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page