top of page

รัฐชื่นมื่น 3 ปีอันดับแข่งขันพุ่ง"IMD" ประกาศปี 60 ไทยขึ้นอันดับ 27 โลก

รัฐชื่นมื่น3ปีอันดับแข่งขันพุ่ง"IMD" ประกาศปี 60 ไทยขึ้นอันดับ 27 โลก


IMD ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ปรากฏไทยดีขึ้น 1 อันดับจากลำดับที่ 28 ในปีก่อนมาเป็น 27 ในปีนี้ อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ได้เกิน 80 คะแนน เมื่อเทียบในอาเซียนไทยอยู่อันดับ 3 เป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซีย “เทวินทร์” เผยโครงการอีอีซีช่วยหนุนให้มีคะแนนดีขึ้น “สมคิด” ปลื้มอันดับดีขึ้นตลอด 3 ปีของรัฐบาลชุดนี้ อัดกลับคนชอบพูดบั่นทอนความเชื่อมั่นและให้ประชาชนไขว้เขว


นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA Center for Competitiveness) เปิดเผยว่า ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศของ World Competitiveness Center โดย International Institute for Management Development (IMD) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2560 มีการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันประเทศต่างๆ 63 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับที่ 27 ดีขึ้น 1 อันดับจากในปี 2559 ที่อยู่ที่อันดับที่ 28 และปี 2558 อยู่อันดับที่ 30 ขณะที่ปีนี้ฮ่องกงครองอันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์อันดับ 2 เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา และสิงคโปร์เลื่อนเป็นอันดับ 3 ทำให้สหรัฐฯตกไปเป็นอับดับ 4


“ในปี 2560 ผลการจัดอันดับของไทยดีขึ้นทั้งโดยคะแนนและอันดับ โดยคะแนนภาพรวมในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 80.095 คะแนน สูงกว่าระดับ 74.681 คะแนนในปีก่อน ถือว่าเป็นครั้งแรกที่คะแนนความสามารถในการแข่งขันของไทยปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่า 80 คะแนน อีกทั้งคะแนนดีขึ้น 15 คะแนนจากปี 2558”


ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนที่อยู่ในการจัดอันดับนี้ ไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยไทย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีอันดับดีขึ้น ขณะที่มาเลเซียมีอันดับลดต่ำลงและคะแนนของไทยใกล้เคียงกับคะแนนของมาเลเซียที่ได้คะแนนรวม 83.5 คะแนน ซึ่งหากมีการเร่งดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะทำให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถการแข่งขันที่สูงขึ้นและสามารถขยับอันดับขึ้นไปในอันดับขึ้นไปเป็นประเทศชั้นนำได้


สำหรับการจัดอันดับฯของ IMD มีการพิจารณา 4 ด้าน คือ สภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยที่ไทยมีอันดับดีที่สุดคือ สภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 63 ประเทศ โดยมีอันดับดีขึ้นถึง 3 อันดับจากปี 2559 สะท้อนว่าแม้เราจะมองการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3% กว่าไม่สูงนัก แต่เมื่อไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในโลก เรากลับมีลำดับที่ดีกว่าหลายประเทศ แสดงว่าในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศอื่นขยายตัวแย่กว่าเรา ขณะที่ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับดีขึ้น 3 อันดับเช่นเดียวกัน ทำให้อยู่ในอันดับที่ 20 ในปีนี้ ส่วนปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานมีอันดับคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีอันดับที่ 25 และ 49 ตามลำดับในปี 2560


นอกจากนี้ หวังว่าอันดับในการจัดอันดับประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานจะมีอันดับดีขึ้นในการจัดอันดับในปี 2561 เนื่องจากผลของการผลักดันนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการสำคัญๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง กทม.-ระยอง รถไฟทางคู่ และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 เป็นต้น ขณะที่การจัดอันดับประสิทธิภาพธุรกิจก็คาดว่าจะได้รับการปรับอันดับดีขึ้น หลังจากที่การผลักดันเรื่องของการอำนวยความสะดวกเรื่องธุรกิจ ตามคำแนะนำของธนาคารโลกอย่างเต็มที่ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะมีอันดับที่ดีขึ้นในปีนี้ แต่ประเทศอื่นๆในโลกต่างก็เร่งพัฒนาตนเองไปเช่นเดียวกับเรา เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามทำให้มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยประเด็นท้าทายที่เราต้องขับเคลื่อนให้ก้าวหน้าไปให้ได้ คือการพัฒนาคนให้มีความรู้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่และการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไปด้วย


ด้านนางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การได้คะแนนและการจัดอันดับที่ดีขึ้นของไทย หากพิจารณาในรายละเอียดด้านสภาวะเศรษฐกิจ ที่มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นถึง 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 33 จากอันดับที่ 37 ในปี 2559 การค้าระหว่างประเทศ อยู่ในอันดับที่ 3 จากอันดับที่ 6 ในปี 2559 ราคาและค่าครองชีพ ที่อันดับดีขึ้นมากจากอันดับที่ 45 เป็นอันดับที่ 28 ในขณะที่ด้านการจ้างงานยังอยู่ในอันดับที่ดีมากคืออันดับที่ 3 เช่นเดียวกับปีก่อน ส่วนเรื่องที่มีอันดับลดลงคือ การลงทุนระหว่างประเทศ จากอันดับที่ 28 ในปี 2559 เป็นอันดับที่ 37 ในปีนี้


“ผลการประเมินสมรรถนะทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของภาครัฐได้รับการจัดอันดับดีขึ้นถึง 3 อันดับ สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจระดับมหภาคที่ส่งสัญญาณดีขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงในด้านกฎระเบียบและกฎหมายธุรกิจที่ส่งผลดีขึ้น ช่วยให้ดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น”


พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความพอใจผลการจัดอันดับดังกล่าว และเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันดับต้นๆ โดยได้กำหนดให้การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ และบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน และขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่มุ่งมั่นทำงานจนเกิดผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง 3 ปีติดกัน และฝากกำชับเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข และการศึกษา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหาแนวทาง ในการพัฒนาให้มีอันดับดีขึ้นเช่นเดียวกันกับสภาวะทางด้านเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ


ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดอันดับที่ออกมาเป็นความจริงที่ต่างชาติมีมุมมองต่อประเทศไทย และดีขึ้นตลอด 3 ปีของรัฐบาลนี้ จึงไม่ต้องไปฟังที่มีบางคนในประเทศชอบออกมาพูดทำให้ประชาชนไขว้เขว และบั่นทอนความเชื่อมั่น จากนี้ไปเป็นข้อดีที่อยากให้ทุกคนช่วยกันสร้าง ทำงานหนักกว่าปีก่อน เพราะนายกฯพยายามขับเคลื่อนทุกอย่างก็ต้องช่วยกันแก้ไข และเชื่อว่าในปีต่อไป เมื่อผลของการลงทุนในโครงการรถไฟและอินเตอร์เน็ตออกมา อันดับเราจะทะลุแน่นอน.


ที่มา: www.thairath.co.th

ดู 24 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page