top of page

กูรูสหรัฐฉายภาพอนาคตไทยบิ๊กดาต้าต่อยอด'อาหาร-เกษตร'


กูรูสหรัฐฉายภาพอนาคตไทยบิ๊กดาต้าต่อยอด'อาหาร-เกษตร'


สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โดยกลุ่มบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรม เชิญ ฌอน เนส ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเพื่ออนาคต ที่มีประสบการณ์มากกว่า 50 ปีในเรื่องการมองภาพอนาคต (Foresight) ร่วมฉายภาพอนาคตประเทศไทย 5 ปีข้างหน้า ในงาน STI Forum and Outstanding Technologist Awards 2018


กรุงเทพธุรกิจ - "อนาคตใน 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีที่จะมาแรงคงหนีไม่พ้นเรื่องของ บิ๊กดาต้าและดาต้าอนาลิติกส์ หรือการวิเคราะห์ ข้อมูล โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในยุคที่เซนเซอร์มีราคาถูก และสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ทำให้มีโอกาสที่จะต่อยอดใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับข้อมูลด้านเกษตรและอาหารซึ่งเป็น จุดแข็งของประเทศไทย" ฌอน เนส เริ่มต้น ด้วยการตอบคำถามตามโจทย์ที่ได้รับ


ปัจจุบัน ฌอน เนส เป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สถาบันเพื่ออนาคต (Institute for the Future - IFTF) ตั้งอยู่ในซิลิกอนวัลเลย์ ของแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นชุมชนที่เป็นจุดตัดของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการทดลองทางสังคมและการแลกเปลี่ยนระดับโลก


โลกออนไลน์ทรงอิทธิพล


ในกระแสของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน สิ่งเก่าจะค่อยๆ เสื่อมถอย และมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาทดแทน (Two-Curve Phenomenon) เช่นเดียวกับเรื่องของงานหรืออาชีพในอนาคต ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ฌอน ฉายภาพว่า จากที่คนเราต้องมองหางานและสมัครงาน ผ่านช่องทางต่างๆ รอเรียกสัมภาษณ์แล้วเซ็นสัญญาเริ่มต้นการทำงาน แต่ในอนาคตจะมีลักษณะกลับกัน โดยตัวงานจะเป็น ฝ่ายตามหาคน (Work finds you) เพียงแค่ ค้นหาในกูเกิลก็จะมีผู้ที่พร้อมจะผลิตงานชิ้นนั้นให้ออกมา โดยมีทางเลือกมากมาย


"เราต้องทำตัวเองให้เป็นที่รู้จัก บนโลกออนไลน์ เหมือนที่โรงแรม หรือ ร้านอาหารก็ต้องพาตัวเองให้เป็นที่รู้จักบน TripAdvisor.com เพื่อชี้ให้เห็นว่า เรามี ทักษะพร้อมที่จะทำงาน เพิ่มโอกาสให้ตนเองได้ทำงานที่ต้องการ"


สิ่งเหล่านี้ คือ Internet to Action ซึ่งอธิบายถึงการใช้อินเทอร์เน็ตเป็น สื่อกลางและนำไปสู่การกระทำที่ตามมา ภายหลัง ลองจินตนาการว่า หากเราต้องการเดินทางไปกินข้าวข้างนอก ก็สามารถใช้เพียง ปลายนิ้วในการเตรียมพร้อมทุกอย่าง ตั้งแต่การเช็คเส้นทางจราจร การหาร้านอาหาร การสั่งอาหาร การชำระเงิน ไปจนสิ้นสุดมื้ออาหารนั้นๆ การกระทำทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นเพียงแค่การคลิกปุ่มๆ เดียว วิถีชีวิตของมนุษย์ในอนาคตสามารถทำอะไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยิบโทรศัพท์ออกมา ใช้งานเลยก็ยังได้


สกิลทำงานร่วมกับหุ่นยนต์


ขณะเดียวกัน ฌอนก็มองว่า สิ่งที่ต้องแรงงานต้องมีคือ ทักษะการทำงานแห่งอนาคต (Future work skill) ที่จะทำให้อยู่รอดได้ทั้ง "ทักษะทางวิชาการ" (Hard skill) ที่ต้องเรียนรู้ เข้าใจ และสามารถทำงานร่วมกับ เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากรู้วิธีรับมือกับหุ่นยนต์ หรือรู้วิธีการสร้าง หรือระบบปฏิบัติการของหุ่นยนต์ ย่อมมีความได้เปรียบกว่า


ถัดมาคือ "ทักษะทางอารมณ์" (Soft skill) คือ การเจรจาต่อรอง และความเข้าอกเข้าใจ เห็นใจผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่าง จากหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติที่จะมาทำงานแทนหรือทำงานร่วมกับมนุษย์เรา เพราะสุดท้ายแล้ว มนุษย์ยังชอบพูดคุย และมีบทสนทนาระหว่างกันมากกว่าสื่อสารกับหุ่นยนต์


ฌอน แนะว่า แม้อนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปแต่ต้องให้ความสำคัญกับคุณค่าของมนุษย์ เพราะมนุษย์สำคัญกว่าเทคโนโลยี แม้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น จะมาช่วยทำงานแทนมนุษย์ แต่เทคโนโลยีนั้น เป็นเพียงอีกเครื่องมือหนึ่งที่ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อสร้างความสะดวกสบาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ ให้กับมนุษย์เท่านั้น


ในแง่ของการวิจัยและพัฒนาก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลง ขนาดใหญ่ (Big Shift) ที่เกิดขึ้นในสังคม ยกตัวอย่างกรณีของโนเกีย ที่เคยเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดโทรศัพท์มือถือ และมีสัดส่วนการครองตลาดมากกว่าแอนดรอยด์ประมาณ 2.5 เท่า แต่ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปี แอนดรอยด์สามารถเข้ามายึดครองส่วนแบ่ง การตลาดแทน และเติบโตจนกลายเป็น ผู้นำตลาดในยุคปัจจุบัน


จากกรณีดังกล่าว แอนดรอยด์สามารถมองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค และหยิบเอาสิ่งนั้น มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง จนตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ในที่สุด


"อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้" ฌอน กล่าวและว่า แต่ IFTF ทำหน้าที่คาดการณ์แนวโน้มหรือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น โดยใช้การสังเกตและติดตามข้อมูลจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยดูจากอิทธิพลของเทคโนโลยี ในทุกๆ ด้านที่มีต่อมนุษย์ ควบคู่กับ พฤติกรรมที่คนตอบสนองต่อกระแสเทคโนโลยีนั้นๆ


เทรนคน ปตท.มองอนาคต


ทั้งนี้ IFTF เป็นสถาบันกลุ่มวิจัยอิสระที่ไม่หวังผลกำไรที่ค้นคว้าข้อมูลในอนาคต ช่วยให้ภาครัฐและภาคธุรกิจต่างๆ สามารถวางแผนและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีภารกิจคือ การเป็นผู้นำด้านความคิดให้กับหน่วยงานองค์กรต่างๆ ได้วางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับอนาคต


"งานวิจัยด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีมีเป็นจำนวนมาก แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าควรใช้งานวิจัยชิ้นใดที่จะสามารถขายในท้องตลาดได้ ดังนั้น สิ่งที่เราได้ศึกษาข้อมูลก็เพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นำมาวิเคราะห์ธุรกิจแล้วพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่เหมาะสม"


ปัจจุบันหลายประเทศได้ใช้นำหลักการมองภาพอนาคต (Foresight) มาเป็นเทคนิคในการวางแผนระยะยาวที่สามารถนำมาใช้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับองค์กร รวมถึงได้ให้ความสำคัญกับการนำวิธีการมองภาพอนาคตมาใช้ในการวางนโยบายของประเทศ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดำเนินอย่างเป็นระบบในการมองไปในอนาคตของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคม เพื่อการส่งเสริมให้เอื้อประโยชน์สูงสุดแก่เศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม


กระบวนการนี้ได้รับการยอมรับใน ระดับสากลว่า เป็นวิธีการที่มุ่งเน้นความพยายามของชุมชนชาววิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่จะนำไปสู่การสร้างมูลค่า (Value Creation) และการยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งจะแตกต่างจากการทำนาย (Forecast) ที่สันนิษฐานอนาคตเพียงรูปแบบเดียว


ปัจจุบัน สถาบันเพื่ออนาคตหรือ IFTF เตรียมที่จะจับมือเป็นพันธมิตรกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เพื่อลุยตลาดไทยประเดิมด้วย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในปี 2562 เป็นการจัดคอร์สอบรม ศาสตร์การมองอนาคตเพื่อวางกลยุทธ์ต่างๆ


เขาย้ำในช่วงท้ายว่า การมองอนาคตเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีการมองอนาคต โดยภายใน 3 ปี เพื่อวางกลยุทธ์ระยะสั้น และ 12 ปีสำหรับแผนระยะยาว



บรรยายใต้ภาพ

ฌอน เนส



กรุงเทพธุรกิจ | 19 ต.ค. 2561 | หน้า 1

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page