top of page

'ทีเอ็มเอ'เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ มุ่งยกระดับขีดความสามารถยุคดิจิทัล



'ทีเอ็มเอ'เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ มุ่งยกระดับขีดความสามารถยุคดิจิทัล


สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2018 ภายใต้คอนเซ็ปต์ Powering Thailand Competitiveness through Digital Transformation เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันไอเอ็มดี ผู้บริหารภาครัฐและเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยุคปัจจุบัน และเปิดมุมมองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเทคโนโลยีที่ส่งผล กระทบต่อรัฐบาลและภาคธุรกิจ


ดร.ไซม่อน แย็กเกอร์ Head of Section Growth and Competition Policy Federal Department of Economic Affairs เปิดเผยว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญถึงการปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัล โดยได้ผลักดันนโยบาย Digital Switzerland ตั้งแต่เมื่อปี 2555 โดยมีเป้าหมายหลักว่าจะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงให้ทุกคนในประเทศได้มีงานทำ โดยกระบวนการรัฐบาลระบบดิจิทัลทำให้ประเทศต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบและมองหานวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้บริการประชาชน พร้อมกันนั้นพัฒนาระบบการเรียนการสอนที่เน้นด้านเทคโนโลยีไอทีสารสนเทศ เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลให้สอดรับกับความต้องการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป


อย่างไรก็ตามแม้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะมีการผลักดันนโยบายดิจิทัล สวิตเซอร์แลนด์ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในช่วงระยะแผนที่ 3 ถึงระยะที่ 4 แล้วก็ตาม แต่ยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องอีก 6 ด้าน คือ 1.จัดตั้งศูนย์ป้องกันความเสี่ยงทางด้านไซเบอร์ 2.กำหนดกรอบกฎระเบียบการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 3.วางกลยุทธ์สำหรับการทำสมาร์ทซิตี้ 4.บูรณาการระบบ โลจิสติกส์ครบวงจร 5.การเปิดเทคโนโลยีบล็อกเชน และ ไอซีโอ และสุดท้าย 6.การลดกฎเกณฑ์การกรอกเอกสารในการติดต่อกับราชการ ซึ่งทั้ง 6 ข้อดังกล่าวเป็นภารกิจที่จะต้องเดินหน้าต่อ เพื่อให้การบริการมีความสมบูรณ์


นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายหัวข้อ Powering Business Competitiveness through Digitalization โดยนายชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประเทศไทย อเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อทุกอุตสาหกรรม ซึ่งธุรกิจยุคใหม่ก็นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการพัฒนาองค์กรของตัวเอง เห็นได้ชัดอย่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ไม่ว่าจะด้านเสียง ภาพ วิดีโอ หรือข้อความ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้มาสร้างบริการใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจ


ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) ระบุว่า บทบาทของสำนักงาน คือการยกระดับการบริการของภาครัฐ ซึ่งจะเน้นภารกิจการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานราชการ ในการให้บริการประชาชน ซึ่งในเดือนสิงหาคมก็จะมีการยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านในการติดต่อหน่วยงานราชการ ขณะเดียวกันจะมีการผลักดันการเปิดข้อมูลภาครัฐให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันจะมีการเปิดระบบให้ภาคเอกชนมาเชื่อมต่อในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และในอนาคตทางสำนักงานได้วางแผนที่จะนำเอกสารหนังสือสัญญาทั้งหมดของราชการเปิดเผยออกมาให้ประชาชนรับรู้ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารงาน นอกจากนี้ทางสำนักงานยังจะร่วมกันวางระบบบริการภาครัฐ เป็นแบบจุดเดียวครบวงจร (one stop service) และการลดขั้นตอนการขอใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของยกระดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ หรือ Doing Business


ด้าน นายสุวัฒน์ มีมุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BIIC) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บางจากรับรู้เรื่องของการถูกดิจิทัลดิสรัปชั่นมาโดยตลอด จึงมีการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมขึ้นมา เพื่อทำให้เป็นมันสมองและมองหาแผนธุรกิจสำหรับอนาคตของบริษัท ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทบางจากได้มีการทดลองไอเดีย ธุรกิจใหม่ๆ มาโดยตลอด โดยเป็นเจ้าแรกที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ร่วมกับการค้าขายพลังงาน ซึ่งได้มีการจับมือกับพันธมิตรในการทดลองใช้หรือการทดลองระบบพลังงานแสงแดด โซลาร์รูฟ ในสถานีน้ำมัน นอกจากนี้บริษัทบางจากยังได้มองหาธุรกิจสำหรับอนาคต เพื่อเป็นอีกแกนธุรกิจที่จะหารายได้ในอนาคต ขณะนี้กำลังเดินหน้าเต็มที่กับโครงการเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ซึ่งทางบริษัทก็ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้


ดร.กำพล ศรธนะรัตน์ ผู้อำนวยการบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาลองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ในฐานะองค์กรกำกับดูแลจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินทำธุรกิจ และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรี ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ก็มีการจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันได้วางกรอบการทำงานให้สอดรับกับยุคดิจิทัลมากขึ้น แม้จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากหลายด้านก็ตาม


ทั้งนี้ เกือบ 20 ปีที่ทางทีเอ็มเอมีบทบาทในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศ ได้ดำเนินโครงการ Thailand Competitiveness Enhancement Program โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการได้กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงในการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนที่เห็นความสำคัญเข้ามามีบทบาทร่วมกันขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างคับคั่ง


มติชน | 17 ก.ค. 2561

ดู 11 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page