top of page

องค์กรธุรกิจคิดที่จะก้าวข้ามเขตแดนจากยุคเดิมสู่โลกดิจิทัล



ในวันที่โลกธุรกิจเปลี่ยนจาก “ออฟไลน์” กำลังก้าวเข้าสู่ “ออนไลน์” มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารธุรกิจต้องตระหนักก็คือ “เผชิญหน้า” แล้วหาหนทางปรับตัวเพื่อที่จะอยู่ให้ได้บนโลกดิจิทัล หรือ ทำได้เพียงนั่งมองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จนในที่สุดก็ถูกทิ้งให้ยืนอยู่ข้างหลัง จากเวที “Thailand ICT Management Forum” ที่ TMA จัดขึ้นในปีนี้ชี้ว่า Leading Digital Transformation: From Idea to Action นั้นมีความสำคัญต่อธุรกิจในก้าวต่อจากนี้ บริหารองค์กรอย่างไรในยุคดิจิทัล? การเปลี่ยนผ่านจากยุคเดิมสู่ก้าวใหม่ที่ต้องใช้ทั้งเทคโนโลยีและความเร็วนั้นจะเป็นไปรูปแบบใด? เหล่านี้เป็นประเด็นที่ผู้บริหารองค์กรต้องตระหนักและมองให้ขาดในช่วงที่เส้นแบ่งระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์เริ่มเลือนราง “องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องประยุกต์สินค้าและบริการของตัวเองให้เข้าสู่โลกดิจิทัลให้ได้” มุมมองจาก โอม. ศิวะดิตถ์ National Technology officer บริษัท ไมโครซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุกองค์กรธุรกิจที่ต้องการจะอยู่รอด จำเป็นต้องปรับตัวให้เป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยี แม้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นจะขายสินค้าที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีก็ตาม ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้คือ บริษัทที่นำเสนอสินค้าและบริการ ที่สามารถทดแทนสินค้าและบริการแบบเดิมๆ ที่มีอยู่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Uber ที่นำเสนอบริการร่วมเดินทาง จนสามารถทดแทนธุรกิจรถแท็กซี่ได้ โดยมองว่า 4 ปัจจัยที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจปรับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ซึ่งเป็นยุคเศรษฐกิจแบบแบ่งปันได้ดีนั้นต้องทำในเรื่องของ Mobile First, Cloud Service, Big data และ Machine Learning “Mobile First” ถูกยกให้มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ หากองค์กรธุรกิจคิดที่จะก้าวข้ามเขตแดนจากยุคเดิมสู่โลกดิจิทัล สะท้อนจากปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือมากกว่าจำนวนประชากรและคนไทยยังใช้งานเฟซบุ๊คมากกว่า 30 ล้านคน จากข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยสามารถเข้าถึงดิจิทัลตลอดเวลา “Cloud Service” ปัจจุบันเทคโนโลยีคลาวด์มีส่วนช่วยให้ธุรกิจสามารถประยุกต์การใช้งานในโลกดิจิทัลที่ง่ายขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำ เปิดโอกาสให้องค์กรได้ลองผิดลองถูกได้ เพื่อให้สินค้าและบริการที่ดีที่สุด “Big data” ซึ่งองค์กรสามารถนำข้อมูลของลูกค้ามาปรับใช้เพื่อสร้างสินค้าและบริการให้โดนใจมากที่สุด สุดท้ายก็คือ “Machine Learning” โดยคาดว่าจะเป็นบริการที่นิยม อาทิ บริการแชทบอท ซึ่งธุรกิจสามารถนำระบบอัตโนมัติเข้าไปใช้ในการสื่อสารกับลูกค้าได้ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นอีกธุรกิจการเงินที่เคลื่อนเข้าสู่ดิจิทัลอย่างจริงจัง “"เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า สามารถช่วยให้ธนาคารสามารถติดตามการทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิด และช่วยให้ธนาคารสามารถนำเสนอแคมเปญหรือสินค้าต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการระดับบุคคล” ธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าว ปัจจุบันธุรกิจธนาคารให้ความใส่ใจกับการนำเสนอบริการทางการเงินที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้าแต่ละคน โดยใช้วิธีการจัดกลุ่มลูกค้าด้วยการติดตามพฤติกรรมการใช้งาน ด้าน อานนท์ สันติวิสุทธิ์ Client Partner Facebook Thailand บอก เฟซบุ๊คให้ความสำคัญในการนำเสนอเนื้อหาที่ตอบสนองการใช้งานกับผู้ใช้งานระดับบุคคล โดยเฉพาะเนื้อหาบน News Feed ที่ต้องสนองต่อผู้ใช้งานมากที่สุด จากสถิติผู้ใช้เฟซบุ๊ค มีการเข้าใช้งานเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง มีการเข้าใช้งานเฉลี่ย 14 ครั้งต่อวันและเฉลี่ยใช้เวลาในการดูโพสต์ เพียง 1.7 วินาทีต่อ 1 โพสต์ โจทย์ที่สำคัญของธุรกิจคือจะทำอย่างไรให้ลูกค้าอยู่กับเนื้อหาที่แบรนด์ต้องการจะสื่อมากที่สุด ทั้งนี้เฟซบุ๊คมีเครื่องมือที่ตอบสนองให้กับแบรนด์สินค้าได้สามารถคัดกรองกลุ่มเป้าหมายและวางแผนกลยุทธ์ให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจาก “Zanroo” บริษัทพัฒนาระบบคัดกรองข้อมูลบนโลกโซเชียลและออนไลน์ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลนำไปใช้ในการวิเคราะห์ทางการตลาด อุดมศักดิ์ ดอนขำไพร ผู้ก่อตั้งบริษัทแสนรู้ บริษัทพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ กล่าวว่า การจะทำตลาดให้ถูกใจลูกค้าและประสบความสำเร็จนั้น แบรนด์ หรือองค์กรจำต้องอัพเดทข้อมูลให้ทันสมัยที่สุด “เพราะลูกค้าในยุคดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก และความคิดเห็นบนโลกออนไลน์มีความสำคัญมาก ลูกค้าสมัยนี้เชื่อถือความคิดเห็นจากผู้ใช้ออนไลน์ มากกว่าการสื่อสารที่มาจากแบรนด์สินค้าโดยตรง” ด้าน วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวสรุปว่า ประเด็นการบริหารองค์กรในยุคดิจิทัลมี 4 มิติได้แก่ 1. การปรับใช้เทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคปัจจุบัน 2. ด้านการพัฒนาบุคลากรและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน 3. การปรับกระบวนการปฏิบัติงานภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และ 4. การปรับรูปแบบสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน "เส้นแบ่งระหว่างโลกกายภาพและโลกดิจิทัลเริ่มไม่ชัดเจน"

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page