ถอดบทเรียนกูรูดิจิทัลโลก
กรณีศึกษา'JustCo-เทสล่า-ไนกี้'
การเปลี่ยนแปลงใน "ยุคดิจิทัล" กระทบทุกอุตสาหกรรม เกิดความท้าทายใหม่ ๆ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกันจัดงาน Digital Transformation Forum 2019 "Surfing the Waves in Digital Transformation Era" แชร์ประสบการณ์ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจ ดิจิทัล
ยุคแห่ง Internet of Action
"เบรนด์ลีย์ เครท" ผู้อำนวยการ Future 50 Reserach สถาบันเพื่ออนาคต (IFTF) ในซิลิคอนวัลเลย์ ให้มุมมองเกี่ยวกับอนาคตของเทคโนโลยี (digital foresight) เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดย "ความตื่นตัว" ไม่ได้หมายถึงแค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่หมายรวมถึงทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การวางแผนกลยุทธ์ วิสัยทัศน์ และวิธีการบริหารจัดการภายในองค์กร ที่ส่งผลวงกว้าง
"เรากำลังก้าวสู่ internet of action ยุคแห่งข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด มนุษย์สร้างเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้นเรื่อย ๆ สมาร์ทขึ้นทั้งพฤติกรรมและความคิด อันนำไปสู่การกระทำ (action) การทำธุรกรรมต่างๆ แค่กดปุ่มเดียวเท่านั้น"
"internet of action" ดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย หากเป้าหมายการทำธุรกิจไม่ชัดเจนก็จะไม่สามารถผลิตอุปกรณ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้ ซึ่งในอนาคตจะได้ เห็นอุปกรณ์ที่อัจฉริยะขึ้น สามารถคิดและ ตัดสินใจได้เอง เพียงนำข้อมูลมาวิเคราะห์เท่านั้น เช่น ในสหรัฐ มีแอปพลิเคชั่น Trim ใช้เทคโนโลยี AI ดูแลการต่อสัญญากับผู้ให้บริการเคเบิล เจ้าของไม่ต้องเสียเวลา โทร.ไปต่อสัญญาเอง
การเปลี่ยนแปลงเริ่มที่ "ผู้นำ"
สิ่งที่จะทำให้เท่าทันยุคดิจิทัล คือ การฝึก เพื่อตั้งคำถามใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ และค้นหาคำตอบอย่างชาญฉลาด และต้องไม่ลืมว่า ต้อง "กล้าตัดสินใจ" เพราะจะนำไปสู่ action อย่างสมบูรณ์ เพื่อปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของโลกธุรกิจ ซึ่งต้องเกิดจาก "ระดับผู้นำ" ก่อนเสมอปัจจุบันได้นำนวัตกรรม มาสร้างคุณค่าให้ชีวิตผู้บริโภคแล้ว เช่น HapiFork ส้อมอัจฉริยะที่จะช่วยเตือน หากกินเร็วเกินไป เหมาะกับการคุมอาหาร หรือ lift ware จาก Lift Labs พัฒนาช้อนสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันให้ รับประทานอาหารเองได้ เพราะช้อนจะช่วยลดระดับการสั่นของผู้ป่วย
"ข้อมูล" แค่เก็บไว้ไม่พอ
"กง ว่าน ล่ง" ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ JustCo สตาร์ตอัพสัญชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็น ผู้นำธุรกิจ coworking space ในอาเซียน กล่าวว่า กุญแจไขสู่ความสำเร็จ คือ การเก็บข้อมูลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
"เราโชคดีที่มีทีมที่เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ข้อมูล เรียกได้ว่า ปรับตัวได้เร็วก่อนยุคเฟื่องฟูของดิจิทัล หลังตระหนักว่า รูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยน จึงเริ่มลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า และตั้งเป้า ที่กลุ่มอาชีพทางด้านดิจิทัล"
โดยตัดสินใจปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เช่าเป็น smart space พร้อมสร้างแม่เหล็กดึงดูดให้กลับมาใช้ซ้ำ ด้วยการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ทั้งการออกแอปพลิเคชั่น ให้จองห้องประชุม เช็ก hot desk เพื่อหาที่ว่างก่อนเข้ามาใช้บริการได้ มีช่องทาง การชำระเงินแบบดิจิทัล ช่วยลดขั้นตอน ในการทำงาน และลดการจ้างงานพนักงานได้ เป็นต้น
ปัจจุบันเปิดบริการ coworking space กว่า 40 แห่งทั่วโลก
"สิ่งเดียวที่แนะนำได้คือ การพัฒนาที่ดีไม่ใช่การนำเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งมาปรับใช้ในบริษัท แต่ต้องใช้ให้หลากหลาย และเหมาะสมกับบิสซิเนสโมเดลของแต่ละบริษัทด้วย"
4 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก
"ดร.ฤตวีร์ มาตังคะ" ผู้บริหารจากบริษัทที่ปรึกษา Boston Consulting Group กล่าวว่า 4 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI), blockchain, IOT และเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (virtual reality)
"วิสัยทัศน์ผู้นำ การปรับ mindset ในองค์กร การวางทิศทางนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า ล้วนสำคัญ โดยต้องมองให้ออกว่า ธุรกิจต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบไหน จะกระตุ้นการเติบโตได้จริง"
หลักการสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จคือ การใช้ "คุณค่า" เป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ "เทคโนโลยี"5 หลักการสู่ความสำเร็จคล้ายคลึงกับมุมมองของ "มิโคลาจ ปิสคอกิ" ศาสตราจารย์ชาวโปแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และนวัตกรรมจาก IMD Business School ที่กล่าวว่า ความสำเร็จในการเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล มี 5 ประการ คือ ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง, อัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงที่ถูกเวลา, การออกแบบองค์กรที่เหมาะสม, การมีทีม ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับองค์กร
สุดท้าย คือ วัฒนธรรมองค์กรที่ถูกต้องพร้อมยกตัวอย่าง บริษัท "ไนกี้" ว่า มี 5 หลักการครบ จึงรักษาความเป็นผู้นำแบรนด์รองเท้าเบอร์ต้น ๆ ของโลกไว้ได้
"เมื่อก่อนจะรับรู้กันว่า ไนกี้ เป็นแบรนด์ รองเท้าสำหรับการวิ่ง แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รองเท้าวิ่งถูกนำไปใช้ในจุดประสงค์อื่นมากขึ้น เช่น เดินในชีวิตประจำวัน มากกว่าใช้วิ่ง"
เมื่อรู้เช่นนั้น "ไนกี้" ตั้งรับ และปรับเปลี่ยนวิธีการค้นคิดเพื่อออกแบบสินค้าใหม่ คือ รองเท้าสำหรับการเดิน ที่มีดีไซน์บางกว่า แต่เพิ่มความหนานุ่ม รองรับเท้าสัมผัส ลดเฉดสีเพื่อใส่เข้ากับชุดต่าง ๆ ในแต่ละวันได้มากขึ้น
หรือผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐ "เทสล่า" ที่กำลังหันไปจับตลาด "ประกันภัยรถยนต์" จากข้อมูลลูกค้า"ไม่อาจยืนยันเหตุผลของเทสล่าได้ 100% ว่าทำไมถึงหันไปจับตลาดประกันภัย รถยนต์ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นจากทั้งไนกี้ และเทสล่า คือ ฐานข้อมูลมหาศาลของลูกค้ากับความสามารถในวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญถือเป็นการรับมืออย่างหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนง่าย แต่ยากตรงที่การวิเคราะห์ข้อมูลกับทีมที่รู้ใจ และวิสัยทัศน์ของผู้นำที่จะปรับทิศทางของบริษัทได้ถูกที่ ถูกเวลา ภายใต้ บรรยากาศการทำงานที่ดี"
ทั้งบริษัทเล็กและใหญ่ต่างเผชิญความท้าทาย เช่น ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลที่ดี กลายเป็นมีข้อมูลแต่เอามาทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายเงินสูญเปล่า
ความคล่องตัวก็สำคัญ ซึ่งบริษัทเล็ก อาจได้เปรียบ เทคโนโลยีมีข้อจำกัดและ วิธีใช้ก็แตกต่างกัน การคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว คือ ความอยู่รอดของธุรกิจในยุคนี้ ประชาชาติธุรกิจ | 6 พ.ค. 2562 | หน้า 1
Commentaires